หนึ่งในเป้าหมายทางการเงินที่หลายคน(อันที่จริงทุกคนเลยก็ว่าได้) ให้ความสำคัญกันอันดับแรกๆ ผมเชื่อว่าคงเป็นเรื่อง “เป้าหมายการเกษียณอายุ” อย่างแน่นอน เพราะตอนนี้หลายคนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณกันมากขึ้น เลยหันมาสนใจเรื่องการเงินการลงทุนกันมากขึ้น เพื่อหวังว่าในอนาคตเราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่ก็อาจจะยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ คิดว่า “ไว้ก่อน” “เดี๋ยวค่อยเตรียม” ยังมองเรื่องการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัวกันอยู่ ดังนั้น ผมจึงอยากทบทวนให้ฟังกันอีกครั้ง ว่าเราควรเตรียมเงินเพื่อการเกษียณหรือวางแผนเกษียณกันตั้งแต่เนิ่นๆเพราะอะไร

5 เหตุผลที่เราต้องวางแผนเกษียณ (ตั้งแต่เนิ่นๆ)

1. เพราะการวางแผนทำให้เรารู้ได้อย่างชัดเจนว่าเราควรต้องเตรียมเงินเท่าไหร่(ถึงน่าจะพอ)

ผมเชื่อว่า แทบจะทุกคนที่ผ่านการเกษียณอายุ หรือกำลังจะเกษียณ ไม่เคยรู้หรอกว่า จริงๆแล้วควรจะต้องเตรียมเงินเกษียณไว้เท่าไหร่ หรืออาจจะคิดเอาเองว่า “เตรียมไว้เท่านั้นเท่านี้ก็คงพอ” คำถามก็คือ แล้วรู้ได้ยังไงว่ามันจะพอจริงๆ? ถ้าไม่พอแล้วจะทำยังไง? วิธีการเดียวที่พอจะรู้ได้ (ถึงแม้ว่าจะเป็นคาดตั้งสมมติฐานก็ตาม) ก็คือการวางแผนเกษียณ โดยการตั้งเป้าหมาย (อยากจะเกษียณเมื่อไหร่?, จะใช้เงินเดือน/ปีละเท่าไหร่?, คาดว่าจะอยู่ถึงเมื่อไหร่?) และคำนวณเงินที่จะต้องเตรียมทั้งหมด รวมถึงเงินที่จะต้องเก็บเพิ่มในแต่ละปี และเครื่องมือทางการเงินที่จะใช้ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทั้งเรื่องมูลค่าเงินตามเวลา (TVM : Time Value of Money), การวางแผนการลงทุน, การจัดพอร์ตการลงทุน รวมถึงสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (ใครเรียนรู้ไม่ไหว ก็ไปปรึกษานักวางแผนการเงินเถอะครับ 555)

2. เพราะใช้เงินเก็บน้อยกว่า

3 ปัจจัยที่มีผลต่อการเตรียมเงินเป้าหมายที่ต้องการ ก็คือ 1) จำนวนเงินออม/เงินลงทุนในแต่ละปี 2) อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยแต่ละปี และ 3) ระยะเวลาในการเตรียมเงินหรือระยะเวลาลงทุน โดยที่ถ้าตัวใดตัวหนึ่งมีค่าน้อยแล้ว อีก 2 ค่าที่เหลือจำเป็นต้องมีค่ามาก (ตัวใดตัวหนึ่ง หรือทั้ง 2 ตัว) เช่น ถ้าเรามีเงินลงทุนน้อย หรือจะใช้เงินลงทุนน้อยๆ เราต้องใช้อัตราผลตอบแทนสูงๆ หรือมีระยะเวลาลงทุนนานๆ, ถ้าเราหาอัตราผลตอบแทนได้ต่ำ เราต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และต้องใช้เวลาลงทุนนาน หรือ ถ้าเรามีเวลาลงทุนน้อย เราก็ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และต้องหาผลตอบแทนให้ได้สูงๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ยิ่งเราเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ มีระยะเวลาเก็บเงินลงทุนนานเท่าไหร่ เราก็ยิ่งใช้เงินลงทุนน้อยเท่านั้น แถมไม่ต้องลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงๆเพื่อให้ผลตอบแทนสูงมากเกินไปด้วย ทางที่ดีก็ควรจะมีเวลาเตรียมเงินไม่ต่ำกว่า 15 ปี ยิ่งเยอะยิ่งดี

3. เพราะมีเวลาแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ทัน

การเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆทำให้เรามีเวลาแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไรได้ทันเวลาเสมอ เช่น เราอาจจะอยากมีเงินใช้หลังเกษียณเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมเงินเพิ่มขึ้น หรือระหว่างทางที่เราเก็บเงินเกษียณมา มีเหตุให้เราต้องใช้จ่ายเงินจำเป็นบางอย่างเป็นจำนวนมากๆ เช่น ซ่อมบ้าน หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาล(ถ้าไม่ได้ทำประกันสุขภาพ) ถ้าหากเราไม่ได้เตรียมเงินเกษียณไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เราอาจจะมีเงินเกษียณไม่พอ เพราะเราต้องจ่ายเงินกับเหตุการณ์ฉุกเฉินพวกนี้ แถมเวลาที่จะหาเงินมาใช้คืน ก็เหลือน้อยเกินไป เพราะฉะนั้น เราจึงควรต้องรอบคอบกับเรื่องพวกนี้ และเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆจะดีที่สุด

4. เพราะถ้าจะไปหวังพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐของไม่พอ

สังคมไทยรวมถึงสังคมทั่วโลก กำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) นั่นคือ เริ่มมีสัดส่วนของประชากรที่เป็นคนแก่มากกว่าวัยอื่นๆ จากทั้งความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่แต่งงานกันช้าลง มีลูกกันน้อยลง ทำให้ในอนาคต สวัสดิการจากรัฐที่จะเอามาจ่ายให้ผู้สูงอายุ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะลดลงจากเดิม (จากแต่เดิมที่ก็น้อยอยู่แล้ว) เนื่องจากประชาชนในวัยแรงงานที่จะเป็นผู้จ่ายเบี้ย มีจำนวนลดน้อยลง แต่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น ใครที่คิดจะหวังพึ่งพาสวัสดิการของรัฐบาลคงต้องคิดดูใหม่

5. เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอน จะไปหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่ได้

บางคนอาจจะคิดว่า ถึงเกษียณแล้วมีเงินไม่พอใช้ก็คงไม่เป็นไร เพราะลูกเราเป็นคนดี ต้องทดแทนบุญคุณพ่อแม่ มันคงไม่ปล่อยให้เราอดตาย ก็หวังจะให้ลูกช่วยจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้ เป็นค่าทดแทนบุญคุณ “ค่าน้ำนม” ซึ่งหากลูกเรามีศักยภาพในการจ่าย จ่ายให้เราแล้วเขาไม่เดือดร้อนอะไร ก็คงเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอนาคตลูกเราจะมีเงินเลี้ยงเราได้สบาย? ถ้าหากตอนนั้นเขามีปัญหาชีวิต มีปัญหาเรื่องงาน เรื่องเงิน แถมมีภาระทางการเงิน ไหนจะต้องเลี้ยงลูก ไหนจะต้องเก็บเงินของตัวเองอีก ลำพังแค่นั้นก็อาจจะทำให้เขาใช้ชีวิตลำบากมากพออยู่แล้ว แล้วถ้าเราไปเรียกร้องให้เขาต้องเลี้ยงดูเราอีกคนล่ะ เป็นเรื่องยุติธรรมสำหรับเขารึเปล่า? ความกตัญญูคือเครื่องหมายของคนดีก็จริง แต่หากต้องมาใช้คำว่าความกตัญญูเพื่อสร้างภาระที่หนักเกินไปให้ลูกหลาน ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะความรักของพ่อแม่คือรักที่ไม่หวังผลตอบแทน เงินที่ได้รับจากลูกหลาน จึงถือว่าเป็นเงินโบนัส สุดท้ายแล้ว ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เมื่อเราเข้าใจความสำคัญของการวางแผนเกษียณ หรือการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว คำถามต่อมาก็คือ เราจะต้องเตรียมยังไง? ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้าง? สำหรับคนกลุ่มข้าราชการอาจจะหมดกังวลเรื่องนี้ลงบ้าง เพราะอย่างน้อยก็มีเงินบำเหน็จบำนาญ เป็นเงินการันต