HIGHLIGHTS :

  • ก่อนซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี เราควรตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าซื้อเพราะเหตุผลอะไร?
  • ประกันชีวิตแบบทั่วไปมี 4 ประเภท (ตลอดชีพ, ชั่วระยะเวลา, สะสมทรัพย์ บำนาญ) ถ้าทำเพื่อคุ้มครองชีวิต ควรเลือกแบบตลอดชีพ หรือชั่วระยะเวลา ถ้าทำเพื่อออมเงิน เลือกแบบสะสมทรัพย์ ถ้าทำเพื่อออมเพื่อเกษียณ เลือกแบบบำนาญ
  • ควรซื้อเท่าไหร่ ให้ดูตามความจำเป็น ถ้าทำเพื่อคุ้มครอง ก็คำนวณหาวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสม ถ้าทำเพื่อออม ก็หาเป้าหมายของการออม ว่าอยากมีเงินออม หรือเงินบำนาญเท่าไหร่
  • ทำให้เหมาะสมกับเงินในกระเป๋า เอาที่จ่ายไหว ไม่เป็นภาระ เพราะต้องจ่ายอีกนาน เบื้องต้นไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี

เข้าสู่ช่วงปลายปีแล้ว ตอนนี้หลายๆคนคงกำลังวุ่นอยู่กับการเลือกซื้อประกันชีวิต หรือกองทุน LTF RMF เพื่อลดหย่อนภาษีกันอยู่ใช่ไหมล่ะครับ ^^

แน่นอนว่า การได้รับการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าทางการเงินดังกล่าว ย่อมเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่เราควรจะได้รับอยู่แล้ว แต่มันคงไม่ดีแน่ ถ้าเราได้ประโยชน์แค่จากการลดหย่อนภาษี แต่เรากลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแก่นแท้ของสิ่งที่เราซื้อมาเท่าที่ควรจะเป็น (เหมือนซื้อตู้เย็น เพราะอยากจะได้ของแถมเป็นหม้อหุงข้าว แต่ไม่รู้ซื้อตู้เย็นมาเพราะความจำเป็นอะไรเหมือนกัน 555)

ดังนั้นคงจะดีกว่า ถ้าเราสำรวจตัวเองถึงความจำเป็น หรือเป้าหมายที่จะต้องใช้ตัวลดหย่อนแต่ละประเภทก่อน โดยเฉพาะประกันชีวิต ที่หน้าที่หลักของมันคือ การป้องกันความเสี่ยงและการันตีเงินที่จะได้ในอนาคต ผมจึงอยากให้ทุกคนลองตั้งคำถามและหาคำตอบเหล่านี้กับตัวเอง ก่อนจะซื้อประกันแค่เป้าหมายเพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุดจากการซื้อประกันชีวิตกันครับ ^^

1. วัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตของเราคืออะไร?

หากใครยังไม่ทราบ ประกันชีวิตที่มีอยู่ตามท้องตลาดนั้น จริงๆมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทนะครับ นั่นก็คือ

1. แบบเน้นคุ้มครองชีวิต (ทั้งแบบตลอดชีพ (Whole Life) หรือแบบชั่วระยะเวลา (Term))

2. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment)

3. แบบบำนาญ (Annuity)

และ 4. แบบควบการลงทุน (Unit Link) 

(แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมาะสมกับอะไร กลับไปอ่านรายละเอียดได้ในบทที่แล้วนะครับ)

หากเราต้องการซื้อเพื่อเน้นคุ้มครองชีวิต (ซึ่งก็คือแก่นแท้ของการทำประกันชีวิตจริงๆ) เราก็ควรซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา ถ้าต้องการการันตีเงินที่อยากจะได้ในอนาคต ก็เลือกแบบสะสมทรัพย์ ถ้าต้องการสร้างระบบเงินบำนาญให้ตัวเอง ให้มีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณตอนอายุ 55 60 หรือ 65 ปี (โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำงานราชการ) ก็เลือกแบบบำนาญ หรือถ้าต้องการแบบผสมหลายๆอย่าง มีทั้งความยืดหยุ่นที่สามารถกำหนดระยะเวลาคุ้มครองและเวลาจ่ายเบี้ยเองได้ มีมูลค่าเงินสะสมในกรมธรรม์ที่สูงขึ้นกว่าแบบสะสมทรัพย์ ก็อาจจะเลือกแบบควบการลงทุนก็ได้ (แต่ก็ควรจะต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนและการรับความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย) 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราควรจะซื้อประกันชีวิตแบบไหน? คำตอบก็คือ ให้ดูตามความจำเป็นเป็นหลักครับ โดยทั่วไป ถ้าคุณเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่น ลองคิดดูว่า ถ้าเราจากไปอย่างกะทันหัน จะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง? และเงินที่เรามีอยู่เพียงพอไหมที่จะเหลือให้พวกเขาใช้ไปจนกว่าจะเลี้ยงดูตัวเองได้? ถ้าคำตอบคือ "มี" และ "ไม่พอ" เราก็เหมาะที่จะทำประกันชีวิตแบบเน้นการคุ้มครองชีวิตมากกว่าแบบอื่นครับ หรือถ้าเรายังอายุไม่มาก ยังไม่มีภาระเลี้ยงดูใคร จะเอาเงินไปลงทุนก็ยังไม่มีความรู้มาก รับความเสี่ยงไม่ค่อยได้ ก็อาจจะเหมาะกับการซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อการันตีเงินที่จะได้มากกว่าประกันชีวิตแบบอื่น เป็นต้นครับ ^^

2. ทุนประกันชีวิต หรือเงินที่เราต้องการในอนาคตคือเท่าไหร่?

คำว่า “ทุนประกันชีวิต” ก็หมายถึง มูลค่าการคุ้มครองชีวิตที่เราจะได้ (หรือเงินที่บริษัทประกันจะจ่ายให้เราหากเราเสียชีวิตนั่นแหละครับ) หลังจากที่เราเลือกแบบประกันตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจแล้ว ต่อมา เราก็ต้องมาดูถึง “ตัวเลข” ที่เหมาะสมกับเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ครับ โดยที่ ถ้าเป็นประกันแบบเน้นคุ้มครองชีวิต เราจะโฟกัสที่ตัวเลข ทุนประกันชีวิต เพื่อตอบตัวเองว่า ถ้าเราอยากจะได้การคุ้มครองชีวิตแล้ว เราต้องการวงเงินในการคุ้มครองเท่าไหร่ล่ะ?

ซึ่งเราก็ต้องมานั่งคำนวณกันก่อนครับ ว่าเราควรจะมีทุนประกันเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป (วิธีการคำนวณเดี๋ยวผมจะสอนในตอนต่อๆไป) ส่วนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ เราจะโฟกัสที่ตัวเลขของ “เงินในอนาคตที่เราต้องการ” ครับ ถ้าเป็นแบบสะสมทรัพย์ เราก็ต้องถามตัวเองว่า เราต้องการเงินจำนวนเท่าไหร่? ในอีกกี่ปี? ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินของเราเป็นหลักว่าเป้าหมายนั้นซีเรียสขนาดไหน และต้องการเงินจำนวนเท่าไหร่ ส่วนถ้าเป็นแบบบำนาญ ก็คือ เราต้องการเงินบำนาญหลังเกษียณแต่ละปีเท่าไหร่? นั่นเองครับ

3. เรามีศักยภาพในการจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ และควรจะจ่ายเบี้ยกี่ปี? ถึงจะไม่เดือดร้อน ไม่ต้องปิดกรมธรรม์

เมื่อเราทราบแล้วว่า เราจะซื้อประกันชีวิตด้วยวัตถุประสงค์อะไร และต้องการเงินจำนวนเท่าไหร่ ขั้นตอนสุดท้ายก็จะเกี่ยวกับเบี้ยประกันที่เราพร้อมจะจ่ายแล้วครับ ว่าเบี้ยประกันของแบบประกันที่เราเลือกมาแล้ว ควรจะเป็นเท่าไหร่ และควรจะต้องจ่ายเบี้ยกี่ปี ถึงจะเหมาะสมกับเราที่สุด แน่นอนว่า ทุกคนก็คงอยากจะเลือกเวลาจ่ายเบี้ยประกันให้สั้นที่สุด ไม่อยากจ่ายยาวๆ แต่จำไว้อย่างหนึ่งครับว่า "ยิ่งจ่ายเบี้ยประกันสั้นเท่าไหร่ เบี้ยประกันยิ่งจะสูงขึ้นเท่านั้น (หากทุนประกันเท่าเดิม)" ดังนั้นที่สำคัญกว่าจะหาแบบประกันที่จ่ายเบี้ยสั้นที่สุด คือเราควรจะหาประกันชีวิตที่เราสามารถจ่ายเบี้ยได้อย่าง “ไม่เดือดร้อน”