สำหรับประกันชีวิต นอกจากเรื่องการซื้อที่ผิดวัตถุประสงค์ (ซื้อเพื่อเอาไว้ลดหย่อนภาษีเป็นหลัก สนใจแต่เรื่องผลตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องบริหารความเสี่ยงเลย) และเลือกใช้แบบประกันไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวเอง (อยากเน้นคุ้มครองชีวิต แต่ไปทำแบบสะสมทรัพย์) แล้ว 

อีกปัญหาหนึ่งที่เรามักจะผิดพลาด 

แต่ไม่ค่อยรู้ตัวกันบ่อยๆก็คือ “ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วควรจะทำเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม” 

เพราะคนที่มีกำลังความสามารถในการจ่ายเบี้ยน้อย มักจะซื้อเท่าที่ตัวเองจ่ายไหว ซึ่งมันอาจจะไม่เพียงพอกับความเหมาะสม (รู้ว่าควรทำเท่าไหร่ แต่ทำเท่าที่ทำได้แล้วรู้ว่ายังขาดอีกเท่าไหร่ ต่างกับการทำเท่าที่ทำได้ โดยไม่รู้อะไรเลย) กับอีกกลุ่มคือ มีกำลังความสามารถในการจ่ายเบี้ยสูง ก็ซื้อกันแบบจัดเต็ม โดยเอาวงเงินสูงสุดในการลดหย่อนภาษีเป็นเกณฑ์ แล้วซื้อจนกว่าจะเต็มวงเงินลดหย่อน 100,000 บาทนั้น ซึ่งมันอาจจะสูงเกินความจำเป็น ทำให้เสียโอกาสเอาเงินไปบริหารจัดการเรื่องอื่นที่มีประโยชน์หรือความจำเป็นมากกว่า

ดังนั้นวันนี้ผมจะมาสอนคำนวณการทำประกันชีวิตที่เหมาะสมกับเรากันครับ

ต้องบอกก่อนว่า ที่บอกว่า “เหมาะสม” นั้น ในการทำประกันชีวิต เราจะดูกันจาก “ทุนประกัน” หรือวงเงินคุ้มครองชีวิตเป็นหลักครับ ไม่ว่าจะทำเพื่อเน้นคุ้มครองชีวิต หรือเน้นออมเงินก็ตาม เพราะเวลาซื้อเราจะซื้อกันจากทุนประกัน (เป็นตัวเลขกลมๆ) แล้วตัวแทนประกันชีวิตจะคิดกลับมาเป็นค่าเบี้ยที่เราต้องจ่าย (เป็นตัวเลขเศษๆ) นั่นเองครับ

เนื่องจากว่า เป้าหมายของการทำประกันชีวิต จะมีอยู่ 2 แง่มุม คือ

1) ทำเพื่อเน้นคุ้มครองชีวิตตัวเอง 

เพื่อดูแลคนที่เรากำลังเลี้ยงดูอยู่ (ว่าถ้าเกิดเราจากไปกะทันหัน คนที่เราดูแลอยู่จะได้มีเงินทุนไปดูแลตัวเองต่อ) ซึ่งแบบนี้ คนที่ได้ผลประโยชน์คือคนที่อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ตัวเรา

2) ทำเพื่อเน้นคุ้มครอง หรือการันตีเงินออม 

(อาจจะเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน แบ่งเงินมาออมในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงขาดทุน ส่วนหนึ่ง) แบบนี้เราจะเป็นคนได้ผลประโยชน์เอง เพราะเราจ่ายเบี้ยเพื่อออมให้ตัวเอง

ซึ่งการคำนวณหาทุนประกันที่เหมาะสมกับเป้าหมายแต่ละแบบ มีดังนี้ครับ

1. ทุนประกันที่เหมาะสม - ถ้าเน้นคุ้มครองชีวิต

หากเราทำเพื่อเน้นคุ้มครองชีวิต ต้องการเตรียมเงินให้คนข้างหลัง ถ้าเราเกิดจากไปกะทันหัน เพราะกลัวคนที่เราเลี้ยงดูจะลำบาก นั่นคือ เราต้องประเมินก่อนครับว่า "แล้วคนข้างหลังเขาต้องมีเงินไว้กินไว้ใช้เท่าไหร่ล่ะ จนกว่าเขาจะเลี้ยงดูตัวเองได้?" บวกกับ "ภาระหนี้สินส่วนตัว" ของเรา ที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด เพราะเราไม่อยากให้คนอื่นต้องมารับภาระหนี้ก้อนนี้ต่อ เพราะฉะนั้น ทุนประกันที่เหมาะสมกรณีเน้นคุ้มครองชีวิต จึงเท่ากับ :

ทุนประกันที่เหมาะสมกรณีเน้นคุ้มครองชีวิต = [ค่าใช้จ่ายต่อปีที่เราจ่ายเพื่อเลี้ยงดูคนอื่น x จำนวนปีที่เราต้องเลี้ยงดู] + ภาระหนี้สินที่เหลืออยู่ทั้งหมด

สำหรับจำนวนปีที่เราเลี้ยงดู ซึ่งถ้าคนที่เราเลี้ยงดูอยู่ เป็นลูก เราก็อาจจะเลี้ยงดูจนกว่าเขาจะจบการศึกษา (เพราะหลังจากนั้นก็คงเลี้ยงดูตัวเองได้) เช่น จนกว่าจะจบปริญญาตรี ตอนอายุประมาณ 22 ปี (ถ้ามีลูกหลายคนก็คิดระยะเวลาจนกว่าลูกคนเล็กสุดจะเรียนจบ) หรือถ้าเราเลี้ยงดูพ่อแม่ ก็จนกว่าพวกท่านจะเสียชีวิต (ต้องตั้งสมมติฐานอายุขัย)

EX นาย ก. อายุ 35 ปี มีลูก 1 คน อายุ 5 ขวบ จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูลูก (ค่าอาหาร / ขนม / เสื้อผ้า / อื่นๆ) เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท และจ่ายค่าเล่าเรียนลูก เทอมละ 30,000 บาท ภาระหนี้สินคงค้างมี หนี้บ้าน 3,000,000 บาท หนี้รถ 200,000 บาท

ทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับนาย ก
= (ค่าเลี้ยงดูต่อปี x จำนวนปี ) + ภาระหนี้สิน
= [{(5,000 x 12) + (30,000 x 2)} x (22-5)] + (3,000,000 + 200,000)
= 5,240,000 บาท

นั่นแปลว่า ถ้าวันนี้นาย ก จากไปกะทันหัน ควรจะต้องมีเงินเตรียมให้ลูกและครอบครัว 5,240,000 บาท สำหรับเป็นค่าเลี้ยงดูจนกว่าลูกจะเรียนจบ และปลดภาระหนี้สิน นั่นเอง แต่ถ้าตอนนี้ นาย ก มีทรัพย์สินทั้งหมด 1,000,000 บาท (เช่น เงินฝากทั้งหมด / เงินลงทุนต่างๆ) และมีทุนประกันที่มีอยู่แล้ว 500,000 บาท (จากประกันชีวิตที่มีอยู่เดิม) ก็เท่ากับว่า นาย ก ควรจะทำประกันชีวิตแบบเน้นคุ้มครองชีวิต (แบบตลอดชีวิต / แบบชั่วระยะเวลา) เพิ่มเติมอีก 5,040,000 - (1,000,000 + 500,000) = 3,540,000 บาท นั่นเองครับ

(*หมายเหตุ : วิธีคำนวณแบบนี้ เป็นวิธีคำนวณแบบง่าย ที่มีสมมติฐานว่า ผู้รับผลประโยชน์หรือคนที่อยู่ข้างหลัง ต้องเอาทุนประกันที่ได้จากการเสียชีวิตของเรา ไปบริหารจัดการหรือลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับ อัตราเงินเฟ้อ นะครับ ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าได้ผลตอบแทนมากกว่าหรือน้อยกว่า ต้องคำนวณซับซ้อนกว่านี้ครับ)

2. ทุนประกันที่เหมาะสม - ถ้าเน้นออมเงิน

หากเราทำเพื่อเน้นออมเงิน อันนี้ที่จริงไม่มีหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับอะไร ว่าเราควรจะต้องใช้ประกันชีวิตแบบที่เน้นออมเงินเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงของเราครับ ว่าเป้าหมายการเงินนั้นๆของเรา เรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ารับได้มาก และเรามีความสามารถในการลงทุน มีระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานพอ เราอาจใช้เครื่องมือลงทุน เช่น หุ้น / กองทุนรวม / ตราสารหนี้ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการเตรียมเงิน 100% เลยก็ได้ แต่ถ้าเราคิดว่า มันเสี่ยงไป อยากจะกระจายการออม/ลงทุน มาลงอะไรที่เสี่ยงน้อย หรือไม่มีความเสี่ยงบ้าง ก็ได้ ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นที่ผมเสนอแนะก็คือ "ไม่เกิน 20% ของเงินเป้าหมาย" นั่นเอง แปลว่า ถ้าเรามีเป้าหมายการเงิน ที่มีมูลค่า 100 บาท ก็ให้เราใช้เครื่องมือที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ประกันชีวิต ในการเตรียมเงินก้อนนี้ ไม่เกิน 20% หรือ 20 บาท ส่วนที่เหลืออีก 80 บาท ก็ใช้การลงทุนในการวางแผนเตรียมเงินไปครับ

EX นาย ก ต้องการวางแผนเกษียณ โดยอยากมีเงินหลังเกษียณใช้เดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท (มูลค่า ณ ตอนเกษียณ)

แทนที่นาย ก จะวางแผนเกษียณ