สวัสดีครับ ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ คงมีหลายคนที่เริ่มได้ยินถึงอาชีพ “นักวางแผนทางการเงิน” หรือ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” กันมากขึ้น ซึ่ง(ผมคิดเอาเองว่า) น่าจะได้ยินมาจากทางฝั่งธุรกิจประกันชีวิตกันเป็นส่วนใหญ่ มันเลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ตกลงแล้ว นักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงินคือใคร? คือตัวแทนประกันชีวิตเดิมที่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอใหม่ หรือคือคนที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนกันแน่? และจริงๆแล้วขอบเขตการทำงานอยู่ตรงไหน สามารถให้บริการอะไรได้บ้าง? นอกจากนั้นก็ยังอาจจะมีคนที่สนใจ อยากรู้ว่าจริงๆแล้วอาชีพนี้มีการทำงานกันยังไง? โปร่งใส มีเกียรติและศักดิ์ศรีแค่ไหน? รายได้ดีไหม? ถ้าอยากทำบ้างต้องมีขั้นตอนยังไง? และต้องทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จในอาชีพนี้?

ซึ่งในบทความนี้ ในฐานะที่ผมเองก็ประกอบอาชีพนักวางแผนทางการเงินอย่างเต็มตัวมาเกือบ 2 ปี ผ่านประสบการณ์และการลองผิดลองถูกมาพอสมควร ผมเลยจะขอถือโอกาสพาทุกคนไปหาคำตอบของทุกคำถามเหล่านี้กันอย่างละเอียดยิบกันเลยดีกว่า! (ยอมเอาชีวิตการทำงานตัวเองมาแฉกันให้เห็นไปเลย!!!) โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็นสองตอนนะครับ ตอนแรกนี้ จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการทำความเข้าใจในอาชีพนักวางแผนทางการเงิน ว่ามีการให้บริการยังไง และมีขั้นตอนการให้บริการยังไงบ้าง เพื่อให้คนทั่วไป ที่อยากจะรู้จัก หรือสนใจอยากจะวางแผนการเงิน ได้เข้าใจการให้บริการของนักวางแผนทางการเงินมากขึ้น ส่วนตอนหน้า จะเป็นในส่วนของเส้นทางสู่อาชีพนักวางแผนทางการเงิน และการทำงานในอาชีพนี้ สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะทำงานเป็นนักวางแผนทางการเงินครับ ^^

(หมายเหตุ : 1) ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจก่อนว่า อาชีพ “นักวางแผนทางการเงินอิสระ” ที่ผมจะพูดถึง ณ ที่นี้ คือคนที่สามารถ “วางแผนการเงินในองค์รวม” ได้อย่างเต็มรูปแบบ มีการจัดทำแผนการเงินเป็นรูปเล่มได้ตามมาตรฐานของสมาคมนักวางแผนทางการเงินเท่านั้นนะครับ (เพราะมันคือสิ่งที่ผมทำอยู่ มีประสบการณ์ จึงมาถ่ายทอดให้ฟังได้) ไม่ใช่แค่คนที่แนะนำเรื่องการเงินเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง หรือแม้แต่มี CFP แล้ว และทำงานในสถาบันการเงินชั้นนำ แต่ก็ไม่ได้รับจ้างวางแผนการเงินอย่างเต็มตัวครับ

2) ทุกอย่างที่ผมนำเสนอ เกิดจากความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น หากมีข้อมูลตรงไหนที่ไม่ตรงกับความคิดของใคร ก็ขอให้เข้าใจว่า "มันคือความคิดของผมคนเดียว" ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเชื่อตามนะครับ)

FAQ about financial planner

Q1 : นักวางแผนทางการเงินคือใคร? ให้บริการอะไร? และมีขอบเขตการให้บริการถึงแค่ไหน?

A1 : ถ้าถามผมว่า “นักวางแผนทางการเงินคือใคร?” ผมคงจะตอบว่า “นักวางแผนทางการเงิน คือ คนที่จะวางกลยุทธ์เรื่องเงินๆทองๆให้คุณ เพื่อให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิต(ที่ตีค่าเป็นเงินได้) ที่ต้องการได้โดยสวัสดิภาพ” ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่า “คีย์เวิร์ด” ของการเป็นนักวางแผนทางการเงิน จึงมีอยู่ 4 คำด้วยกัน นั่นคือคำว่า “กลยุทธ์” “เรื่องเงินๆทองๆ” “เป้าหมายชีวิต” และ “สวัสดิภาพ”

“กลยุทธ์” คือ ต้องมีความรู้ เข้าใจในหลักการ มีวิธีการวางกลยุทธ์ทางการเงินด้านต่างๆเป็น

“เรื่องเงินๆทองๆ” หมายถึง ต้องมีความรู้และให้คำปรึกษา "ทุกด้าน" ที่เกี่ยวกับการเงินเป็น คือการบริหารรายรับรายจ่าย, การบริหารจัดการหนี้สิน, การวางแผนทำประกัน, การวางแผนการลงทุน, การวางแผนภาษี และการวางแผนมรดกหรือส่งมอบทรัพย์สิน ไม่ใช่ให้บริการแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น (เช่น วางแผนแต่เฉพาะเรื่องประกัน หรือเฉพาะการลงทุน แล้วเรียกตัวเองว่านักวางแผนทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางการเงินก็คงจะไม่ถูกต้องนัก ควรจะเรียกเป็นที่ปรึกษาเฉพาะทาง อย่างที่ปรึกษาเรื่องประกัน หรือที่ปรึกษาการลงทุนไปเลย น่าจะถูกต้องเหมาะสมกว่า)

“เป้าหมายชีวิต” คือ ต้องทำงานโดยโฟกัสที่ “เป้าหมาย” ทางการเงินของลูกค้าเป็นหลัก ทุกคำปรึกษา ทุกแผนการ มีไว้เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้

“สวัสดิภาพ” หมายถึง ให้ความสำคัญว่าจะถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ดังนั้นในเรื่องของการลงทุนก็คือ ขอแค่การลงทุนช่วยให้ลูกค้าถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้พอแล้ว ไม่ใช่ต้องให้เร็วที่สุด หรือให้ผลตอบแทนสูงที่สุด โดยไม่สนใจถึงความเสี่ยง รวมถึงว่า ระหว่างทางเดินสู่เป้าหมายก็ต้องอุ่นใจด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการวางแผนทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง ปกป้องทรัพย์สินด้วยเช่นกัน (*ยกเว้น ลูกค้าบางท่านที่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักๆในชีวิตได้แล้ว ยังเหลือเงินที่อยากให้บริหาร เอาไปลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง แบบนั้นก็อาจจะสามารถลงทุนในความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ เพราะเป็นเงินที่ถือว่าเป็น extra money แล้วนั่นเองครับ)

โดยรวมแล้ว หน้าที่และการให้บริการของนักวางแผนทางการเงินก็คือ ต้องออกแบบแผนการหรือกลยุทธ์ทางการเงินที่ครอบคลุมเรื่องเงินในทุกๆด้าน(รายรับรายจ่าย, หนี้สินทรัพย์สิน, ประกัน, ลงทุน, ภาษี, มรดก(ถ้ามี)) โดยการอธิบายและจัดทำรายงานแผนทางการเงินให้ลูกค้า และหากมีการใช้สินค้าทางการเงินใดๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (ซึ่งก็ต้องมีอยู่แล้ว) ก็จะมีการแนะนำให้ซื้อสินค้านั้นด้วย โดยมีความตั้งใจเพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของลูกค้าเป็นหลัก ให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมนั่นเองครับ

เพราะฉะนั้น นักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงินตัวจริง จะต้องไม่ได้มีลักษณะการทำงานแบบ “ขายของ” คือแนะนำให้ซื้อสินค้าทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน, กองทุนรวม หรือสินค้าทางการเงินอื่นๆ โดยบรรยายสรรพคุณแต่ด้านดีของสินค้า แล้วบอกว่าต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ จ่ายกี่ปี่ ทำโน่นทำนี่ยังไง (คือพูดแต่กระบวนการเกี่ยวกับสินค้า) แล้วพยายามโน้มน้าว เชื้อเชิญ ชักจูงให้เราซื้อ โดยไม่มีการโฟกัสที่ “เป้าหมาย”