สวัสดีครับผม กลับมาพบกันอีกครั้ง คราวนี้ถึงเวลาที่ผมจะมีบทความเกี่ยวกับประกันชีวิตเป็นซีรีส์ยาวต่อเนื่องกันเป็นครั้งแรกนะครับ เรียกได้ว่า ถ้าอ่านจบทั้งซีรีส์จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมทั้งหมดของการทำประกันชีวิตอย่างครบถ้วนแน่นอน! ขอให้ทุกคนติดตามบทความทุกตอนจนกว่าจะจบซีรีส์ด้วยนะคร้าบบบบ ^^

ในตอนแรกของซีรีส์นี้ ก็จะขอเริ่มกันที่คำถามพื้นฐานที่สุดของการทำประกันชีวิตกันเลย นั่นก็คือ “เราจะเริ่มซื้อประกันชีวิตยังไงดี?” (ซึ่งในที่นี่ ผมขอเริ่มที่ประกันชีวิตก่อนแล้วกันนะครับ)

คำตอบของผมก็คือ ก่อนที่เราจะไปเลือกซื้อประกันชีวิตที่เหมาะสมนั้น เราควรจะต้องมีข้อมูลความรู้ในเรื่องประกันชีวิตอยู่ 3 ด้าน ก่อน แล้วจึงค่อยมาสำรวจ และตอบคำถามตัวเองว่า “เรามีความจำเป็น หรือเหมาะสมจะทำประกันชีวิตประเภทไหน?” เมื่อตอบคำถามนี้ได้แล้ว นั่นแหละครับ ถึงจะถึงเวลาอันเหมาะสมที่เราจะเริ่มซื้อประกันชีวิตได้

ซึ่งความเข้าใจพื้นฐานทั้ง 3 ด้าน เกี่ยวกับการทำประกันชีวิตที่เราควรจะต้องรู้ก็คือ :
1. รู้ว่าประกันชีวิตมีกี่แบบ และแต่ละแบบหมาะสมกับวัตถุประสงค์อะไร
2. เข้าใจเงื่อนไขในการทำประกันชีวิต และการจ่ายเงินคืนหรือเงินชดเชย
3. อ่านข้อมูลในกรมธรรม์เป็น และทราบถึงสิทธิ์ที่ตัวเองมี หลังได้รับกรมธรรม์

โดยก่อนอื่น ขอให้อ่านทำความเข้าใจเรื่องคำศัพท์ที่ใช้ในการทำประกัน ตามที่ผมเคยเขียนไปในบทความนี้ก่อนนะครับ………………..

เมื่อเข้าใจดีแล้ว เราไปทำความเข้าใจกับความรู้พื้นฐานทั้ง 3 ด้านของการทำประกันชีวิตกันเลยดีกว่าครับ!

1. แบบของประกันชีวิต และความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

ประกันชีวิต แบ่งเป็น4 แบบทั่วไปและ 2 แบบพิเศษ ดังนี้ครับ

1) แบบชั่วระยะเวลา (Term)

= เป็นแบบที่เน้นการคุ้มครองชีวิตเพียวๆ 100% เลย คนทำประกันไม่มีวันได้ใช้เงิน คนที่ได้ใช้คือคนที่อยู่ข้างหลังเท่านั้น โดยมีระยะเวลาคุ้มครองและระยะเวลาชำระเบี้ยตามที่แต่ละแบบกำหนด เช่น 5/5 (จ่ายเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 5 ปี) 10/10 (จ่ายเบี้ย 10 ปี คุ้มครอง 10 ปี)

  • ข้อดี = เบี้ยประกันถูกที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่น (ถ้ามองที่ทุนประกันเท่ากัน จะจ่ายเบี้ยน้อยกว่า หรือถ้ามองที่จ่ายเบี้ยเท่ากัน จะได้ทุนประกันสูงกว่า)
  • ข้อเสีย = เบี้ยที่จ่ายเป็นเบี้ยจ่ายเพื่อคุ้มครองภัยจากการเสียชีวิตอย่างเดียว (คล้ายประกันรถยนต์) ไม่มีส่วนเงินออม เมื่อครบกำหนดสัญญาจึงไม่มีมูลค่าใดๆ คืนให้ผู้เอาประกัน(เวลาเราจ่ายเบี้ย เบี้ยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของความคุ้มครองชีวิต และส่วนของผลประโยชน์เมื่ออยู่รอด แต่สำหรับแบบชั่วระยะเวลาจะมีแต่ส่วนความคุ้มครองชีวิตเท่านั้น)
  • เหมาะสำหรับ = คนที่ต้องการการคุ้มครองชีวิตเพื่อให้คนที่เราเลี้ยงดูได้มีเงินทุนไว้ใช้หากเราจากไปกะทันหัน ตามระยะเวลาที่ต้องการการคุ้มครอง โดยต้องการจ่ายเบี้ยถูก แต่ได้ทุนประกันสูงๆ

2) แบบตลอดชีพ (Whole Life)

= เป็นแบบที่เน้นการคุ้มครองชีวิตเช่นเดียวกับแบบชั่วระยะเวลา แต่ความต่างคือ จะจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่มีการคุ้มครองตลอดชีวิต (จนถึงอายุ 90 หรือ 99 ปี แล้วแต่แบบประกันของแต่ละบริษัท) เช่น จ่ายเบี้ย 5 ปี (หรือ 10, 15, 20 ปี แล้วแต่แบบ) คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี

  • ข้อดี = เบี้ยประกันถูก ระยะเวลาคุ้มครองยาว ความคุ้มครองสูง (แต่น้อยกว่าแบบชั่วระยะเวลา) ไม่ใช่เบี้ยจ่ายทิ้ง เมื่อมีชีวิตอยู่จนถึงครบอายุ 90 หรือ 99 ปี แล้วแต่แบบประกัน จะได้รับเงินครบกำหนดสัญญา
  • ข้อเสีย = มีการคุ้มครองตลอดชีวิต (แล้วแต่แบบประกันของแต่ละบริษัท) ซึ่งอาจจะนานเกินความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่
  • เหมาะสำหรับ = คนที่ต้องการการคุ้มครองชีวิต เช่นเดียวกับแบบชั่วระยะเวลา แต่ต้องการการคุ้มครองระยะยาว เช่น เจ้าของธุรกิจ (ต้องการการคุ้มครองให้ธุรกิจตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจจะมีเงินทุนเดินต่อไปได้อย่างแน่นอน) หรือคนที่ต้องการสร้างหลักประกันให้ลูกหลาน

3) แบบสะสมทรัพย์ (Endowment/Saving)

= เป็นแบบที่รวมทั้งการคุ้มครองชีวิต และให้ผลตอบแทนเป็นเงินจ่ายคืนที่แน่นอน เข้าด้วยกัน โดยเงินจ่ายคืนมักจะบอกเป็น % ของทุนประกัน เช่น คืน 3% ของทุนประกันทุกสิ้นปีกรมธรรม์ มีทั้งแบบออมระยะสั้น กลาง ยาว โดยมีระยะเวลาชำระเบี้ยน้อยกว่าหรือเท่ากับระยะเวลาคุ้มครอง เช่น (จ่ายเบี้ย 7 ปี ระยะเวลาคุ้มครอง 15 ปี ครบ 15 ปี ได้เงินก้อนใหญ่คืน 150% (1.5 เท่า) ของทุนประกัน ระหว่างนั้น จะจ่ายเงินจ่ายคืน 3% ของทุนประกัน ทุกสิ้นปีที่ 3, 6, 9, 12 เป็นต้น (ตัวเลขสมมตินะครับ))

  • ข้อดี = เป็นการออมที่ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน ไร้ความเสี่ยง ช่วยสร้างวินัยในการออมให้เรา เพราะต้องจ่ายเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ
  • ข้อเสีย = ไม่เหมาะกับการทำเพื่อคุ้มครองชีวิต แม้จะมีทุนประกันคุ้มครอง เพราะเบี้ยที่จ่ายค่อนข้างแพง ทุนประกันที่ได้ไม่สูงนัก และไม่เหมาะกับการบริหารเงินที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ
  • เหมาะสำหรับ = คนที่ต้องการการันตีเงินเป้าหมายในอนาคต (เช่น ต้องการเงิน 1 ล้าน ในอีก 10 ปี แบบชัวร์ๆ ต้องได้เท่านั้นเป๊ะๆ) โดยมีการคุ้มครองชีวิตพ่วงเข้าไปด้วย หรือคนที่ต้องการสร้างวินัยในการออมระยะยาว

4) แบบบำนาญ (Annuity)

= เป็นแบบที่เน้นการออม เช่นเดียวกับแบบสะสมทรัพย์ แต่จะเป็นการออมระยะยาวจนถึงอายุเกษียณ (อายุ 55 หรือมากกว่า เช่น 60 หรือ 65 เป็นต้น) และจะได้เงินคืนเฉพาะช่วงหลังเกษียณเป็นต้นไปเท่านั้น จนถึงอายุ 85 หรือหรือมากกว่า (แล้วแต่แบบประกันของแต่ละบริษัท) โดยทุนประกันคุ้มครองชีวิตจะค่อยๆลดลงหลังเกษียณจนหมด

  • ข้อดี = เป็นการออมเพื่อการันตีเงินได้หลังเกษียณ ว่าตอนเกษียณจะมีเงินใช้ต่อปีเท่านี้แน่ๆ และช่วยสร้างวินัยในการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณให้เรา รวมถึงได้ส