พอเข้าสู่ช่วงปลายปีทีไร คนส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการลดหย่อนภาษีกันมากขึ้น (ทั้งๆที่จริงๆแล้วสามารถซื้อกันตอนไหนก็ได้ อารมณ์เหมือนคนไฟลนก้นที่เพิ่งมาเริ่มอ่านหนังสือในคืนก่อนสอบ) และที่เรามักจะได้ยินกันก็คือ “จะซื้อประกันตัวไหนดี?” “จะซื้อ LTF หรือ RMF ตัวไหนดี?” หรือ“จะซื้ออะไรดีระหว่าง LTF RMF หรือประกัน?”

ซึ่งสุดท้าย ถ้าเป็นเรื่องประกัน สิ่งที่เราชอบทำกันก็คือ หา “ประกันที่คิดว่าคุ้มค่าที่สุด” ด้วยการนำประกันของเจ้าโน้นเจ้านี้มาเทียบกัน ว่าตัวไหนมีเงินคืนมากกว่า ตัวไหนจ่ายเบี้ยประกันสั้นกว่า เราก็มักจะเลือกตัวนั้น และเราก็รู้สึกกับตัวเองด้วยความภาคภูมิใจว่า “เยส! ฉันได้ประกันที่ดีที่สุดแล้ว ได้ลดหย่อนภาษีด้วย ได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย คุ้มค่าฝุดๆ”

คำถามก็คือ อ๊ะๆๆ แน่ใจหรือไม่? ว่าการเลือกซื้อประกันแบบนี้น่ะ มันคุ้มค่าที่สุดแล้ว

“อ่าว แน่ใจสิ ก็ฉันจ่ายเงินซื้อประกันทีนึง ได้ทั้งภาษีคืน ได้ทั้งผลตอบแทนจากประกันที่ดี ทำไมจะไม่คุ้มล่ะ”

ถ้าคิดแบบนี้ ลองถามตัวเองดูอีกซักคำถามซิครับว่า ถ้าอยากได้อะไรที่ผลตอบแทนที่ดี ทำไมมาซื้อประกัน? ไม่ไปซื้อ LTF หรือ RMF ล่ะ ผลตอบแทนสูงว่าประกันอีก!

โถ่! ประกันน่ะ ซื้อไป จ่ายเงินก็ตั้งหลายปี เงินคืนแต่ละปีก็ไม่ได้มากมายอะไร ถึงครบอายุได้เงินก้อนใหญ่คืน แต่คิดเป็นผลตอบแทนออกมาแล้ว ตกแค่ 2% กว่าๆต่อปีเท่านั้นเอง ถ้าแค่นั้นเอาเงินไปซื้อ LTF ซะยังจะดีกว่า ตลาดจะขึ้นจะลงยังไง อย่างน้อยลงทุนซัก 5-7 ปี ก็น่าจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่า 2% ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว จะมาซื้อทำไมประกัน

ผมตอบได้เลยครับว่า ถ้าคุณคิดจะมาซื้อประกันโดยมองความคุ้มค่าในแง่ “ผลตอบแทน” เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจากภาษีคืนหรือเงินคืนก็ตาม ไม่คุ้มหรอกครับ ไปซื้อ LTF หรือ RMF ดีกว่า ผลตอบแทนสูงกว่าเห็นๆ

ทำไมซื้อแบบนี้ถึงไม่คุ้ม? ก็เพราะคนเราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของประกันชีวิตไงครับ ไปมองประกันชีวิตในแง่ของผลตอบแทน ทั้งๆที่จุดมุ่งหมายของประกันชีวิตมันคือ “การป้องกันความเสี่ยง” และ “ความแน่นอน” ของเงินที่จะได้ในอนาคตเป็นหลักต่างหาก

การป้องกันความเสี่ยง ก็คือ การที่ถ้าเราจากไปอย่างกะทันหัน แล้วคนที่เรารับผิดชอบเลี้ยงดู (เช่น ลูกเมีย) อาจจะมีความเดือดร้อน (จากภาระค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน หรือภาระหนี้สินที่มีอยู่) เราจึงต้องทำประกันชีวิตในวงเงินที่ครอบคลุมภาระดังกล่าว ไว้เคลียร์หนี้ ไว้ให้ลูกเมียเราใช้กินอยู่ได้สบายเมื่อเราจากไป

ความแน่นอน ก็คือ การการันตีเงินที่จะได้ในอนาคต ถ้าเป็นช่วงระยะเวลา (เช่นอีก 10 ปี ข้างหน้า) ก็คือการใช้ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ส่วนการันตีเงินที่จะได้หลังเกษียณ ก็คือการใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญ (ซึ่งการเปรียบประกันแต่ละที่โดยเทียบผลตอบแทน ก็จะตกอยู่ในกรณีนี้ แต่จะมีจุดประสงค์เพื่อต้องการความแน่นอน ไม่ใช่เพื่อเน้นผลตอบแทนสูงๆ)

(แนะนำให้อ่าน ประกันนั้นสำคัญไฉน? เพิ่มเติม)

ดังนั้น ถ้าเราต้องการทำประกันชีวิตเพื่อให้คุ้มค่าจริงๆ มันจึงเป็นการทำเพื่อ "ตอบโจทย์ความจำเป็นของชีวิต” เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุ้มครองความเสี่ยงหรือการการันตีเงินได้ ไม่ใช่มาทำเพื่อต้องการแค่เงินภาษีคืน หรือไม่ก็ดันไปเน้นที่เรื่องของผลตอบแทน ทั้งๆที่มันไม่ใช่หน้าที่ของประกันชีวิตเลย

เช่น กรณีสมมติว่า เราเป็นหัวหน้าครอบครัวอายุ 40 ต้องเลี้ยงดูลูกเมีย แถมมีหนี้อีกก้อน แต่เรากลับไปซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ดูเรื่องผลตอบแทน ทำเพื่ออยากลดหย่อนภาษี จ่ายเบี้ยปีละ 50,000 แต่ได้ทุนประกันคุ้มครองชีวิตแค่ 200,000 บาท ทั้งๆที่ถ้าไปซื้อแบบเน้นคุ้มครองชีวิตแบบตลอดชีพ โดยจ่ายเบี้ย 50,000 เท่ากัน แต่จะได้ทุนประกันถึง 2,000,000 บาท ซึ่งคุ้มค่ากว่ามาก เพราะทำได้ตรงกับความจำเป็นของชีวิตจริงๆ

ต่อแต่นี้ไป ทุกครั้งก่อนคิดจะซื้อประกันชีวิต ลองถามตัวเองดูก่อนดีกว่าครับว่า “เรามีความจำเป็นอะไรที่ต้องใช้ประกันชีวิตแต่ละแบบไหม?” เพื่อให้ซื้อประกันได้คุ้มค่าและตอบโจทย์ชีวิตจริงๆ ส่วนเรื่องการลดหย่อนภาษีก็ถือเป็นของแถมไปดีกว่าครับ ^^