เคยมั้ย เห็นร้านคาเฟ่เปิดใหม่ ตกแต่งร้านได้น่ารัก ดูดี มีสไตล์ ก็คิดว่า "เบเกอรี่" ของร้านนี้น่าจะรสชาติดี เพราะเจ้าของลงทุนตกแต่งร้านได้ดีขนาดนี้น่าจะลงทุนศึกษาวิธีทำ "เบเกอรี่" มาไม่น้อยเช่นกัน

แต่พอตักเข้าปากเท่านั้นแหละ กลับพบว่า รสชาติไม่ได้เรื่อง ไม่ถูกใจ ไม่เหมือนกับที่คาดหวังไว้

ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์แบบนี้แล้วล่ะก็ บอกเลย คุณตกหลุมพรางของ Halo effect แล้วล่ะ

Halo effect คืออะไร?

Halo effect เป็นอคติทางความคิดรูปแบบหนึ่ง เกิดขึ้นจากการที่คนเราคิดไปเองว่า ถ้าสิ่งนั้นดี สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดีไปด้วย ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูล และข้อเท็จจริง มายืนยัน ซึ่งอคติ หรือ ความลำเอียงเชิงบวกรูปแบบนี้ มักทำให้เราละเลย ที่จะตระหนัก มองเห็น หรือ ทบทวนข้อจำกัด หรือ ข้อบกพร่องของสิ่งที่เรากำลังพิจารณาไปโดยปริยาย

จริงๆ แล้ว คำว่า Halo หมายถึง รัศมีวงกลมที่มีแสงสว่างอยู่เหนือศีรษะของนางฟ้า หรือ เทวดา แต่ในปี 1920 Edward Lee Thomdike นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เจ้าของทฤษฎี Halo effect ได้หยิบยกคำว่า Halo ขึ้นมา เพื่อใช้เปรียบเทียบกับภาวะที่คนเรา ประเมินสิ่งอื่นดีจนเกินไป ราวกลับว่าสิ่งๆ นั้น มีรัศมีเทวดา หรือ นางฟ้า ปกคลุมอยู่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือ ทำให้ข้อเท็จจริงคาดเคลื่อนไป

โดย Edward ได้ทำการทดสอบด้วยการให้ ผู้บังคับบัญชาทหาร ประเมินทหารผู้ใต้บังคับบัญชาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านศักยภาพ, ความประพฤติ, ความเฉลียวฉลาด และความเป็นผู้นำ ผลปรากฎว่า ทหารผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีรูปร่างหน้าตาที่ดีกว่า จะได้รับการประเมินในด้านต่างๆ ที่ดีกว่าทหารที่มีรูปร่างหน้าตาธรรมดา

ต้องยอมรับว่า คนเราต่างเคยตกเป็นเหยื่อ Halo effect กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์ เราจึงไม่ควรตัดสินใจ หรือ ประเมินใคร หรือ ข้อมูลใดๆ ด้วยความรู้สึกของเราในครั้งแรกเสมอ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน

บ่อยครั้งที่นักลงทุน เวลาจะตัดสินใจเลือกซื้อหุ้น มักพิจารณาจากภาพรวมของอุตสาหกรรม โดยไม่ได้ใส่ใจถึงใสใน หรือ ลักษณะกิจการที่แท้จริงของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ

เท่าที่เจอบ่อย คือ การให้มูลค่าพื้นฐานตามอุตสาหกรรม โดยไม่ได้ว่าธุรกิจที่แท้จริงคืออะไร ดูแค่ว่าบริษัทนั้นอยู่ในหมวดของอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ก็ตีความว่าหุ้นของบริษัทนั้นน่าจะมีผลประกอบการเป็นแบบนั้นแบบนี้ไปก่อน

พูดให้เห็นภาพง่ายๆ หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน นักลงทุนบางรายตัดสินใจปัดตก เพราะคิดว่าน่าจะผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงมีความเสี่ยงและไม่น่าลงทุน แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียด คัดเลือกหุ้นให้เป็น ดูข้อมูลเชิงลึก จะพบว่าหุ้นในหมวดนี้ มีบางตัวประกอบธุรกิจรับจ้างเติมน้ำมันเครื่องบิน บริษัทได้กำไรจากการรับจ้างเติมน้ำมันเท่านั้น และสามารถผลักภาระค่าน้ำมันและความผันผวนทั้งหมดมาให้ผู้เติมน้ำมัน หรือ สายการบินแทน ผลประกอบการจึงค่อนข้างมีกำไร

ดังนั้น ถ้านักลงทุนถูกกับดักของ Halo effect ตีกรอบความคิด บางทีก็อาจจะพลาดหุ้นของบริษัทดีดีไปก็ได้

แล้วจะรับมือกับ Halo effect ยังไงดี?

คำตอบง่ายๆ คือ นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด อ่านให้มากขึ้น วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ไม่ยึดติดกับชื่อเสียง หรือ ชื่อเสียของอุตสาหกรรม แยกแยะหุ้นดีหุ้นเสีย ที่สำคัญต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดเองเออเอง ลดโอกาสการพลาดหุ้นดี หรือเข้าไปช้อนซื้อหุ้นเสีย เพื่อให้การลงทุนของคุณไม่มีจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากอคติที่แฝงมาโดยไม่รู้ตัว