สวัสดีครับ กลับมาอีกแล้วกับคอลัมน์ Weekly Outlook สรุปและอัพเดทกลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์ กับผมนาย อัศวินกองทุน คนเดิมคนนี้ที่จะมาให้ความรู้และความเข้าใจกันแบบนี้ไปเรื่อยๆครับผม

เริ่มต้นด้วยการดูภาพรวมของตลาดกันก่อนครับ สัปดาห์นี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นไปตามคาด และมีหลายอย่างที่น่าสนใจครับ เรามาเริ่มต้นกันเลยดีกว่า

ภาพรวมของตลาด

เริ่มต้นกันที่พี่ใหญ่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกแล้วครับ คราวนี้เกิดจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนบางส่วนที่ออกมาดีอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพของ ลุงทรัมป์ จะเจอกับแรงกดดันหลังจาก ส.ว. รีพับบลิกัน 4 ราย ไม่สนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้ แต่อย่างที่ว่าครับ ตอนนี้สหรัฐฯ ยังมาแรงอยู่ครับ

ทางฝั่งเพื่อนบ้านกันบ้าง ฝั่งของตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจยังออกมาดีอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการนำเข้าและส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ แม้ว่าหลายคนจะมีการชะลอการลงทุนไปบ้างก็ตาม สัปดาห์นี้เรามาลุ้นกันต่อครับว่ากลยุทธ์จะออกไปในแนวไหน

กลับมาที่อีกฝั่งหนึ่งอย่างตลาดหุ้นยุโรปกันต่อ สัปดาห์นี้มีการปรับตัวลดลง หลังจากประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการพูดถึงเรื่องการปรับวงเงินการทำ QE ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าคงมีใครหลายคนกล้าๆกลัวๆอยู่ละมั้งครับ อิอิ

ส่วนปู่ SET คนเดิมนี้ยังทรงตัวครับ เพราะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเล็กน้อย คาดว่ามาจากการขายหุ้นในกลุ่มธนาคารหลังจากผลประกอบการณ์ไตรมาสสองยังไม่ดี อย่างไรก็ตามตัวเลขการส่งออกไทยในเดือน มิถุนายน เติบโต 11.7% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ถือว่าเป็นโอกาสหรือไปต่อไหม เดี๋ยวมาดูกันครับ

สุดท้ายสินทรัพย์ทางเลือกอย่างราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง ใครมีในพอร์ตและสะสมไว้ คงจะดีใจกันทั่วหน้าใช่ไหมครับ ฮ่าๆ

กลยุทธ์ลงทุนในตลาดตราสารทุน

ตลาดหุ้นอินเดีย

สัปดาห์นี้ผมคิดว่ากลับมาสะสมหุ้นอินเดียได้แล้วล่ะครับ เนื่องจากมูลค่าพื้นฐานเมื่อเทียบกับการคาดการณ์การเติบโตของรายได้บริษัทปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ตลาดมีความน่าสนใจ ส่วนภาคเศรษฐกิจ ฤดูมรสุมที่คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะอยู่ในระดับปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ภาคการเกษตร และสนับสนุนการบริโภคในประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ นโยบายปฏิรูปภาษีหรือ GST จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงต่างชาติ ซึ่งสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ดูน่าจะไปยาวๆ กันต่อได้เช่นกันครับ

ตลาดหุ้นเกิดใหม่เอเชีย

เงินกำลังจะหมุนไป เรามาทยอยสะสมหุ้นประเทศเกิดใหม่กันต่อครับ เพราะจากภาพปัจจัยพื้นฐานยังสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและจีน ที่ออกมาดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกในกลุ่มประเทศเอเชียที่ขยายตัวดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้จ่าย และเป็นตัวสนับสนุนผลประกอบการบริษัทให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปครับผม สำหรับกลุ่มนี้แนะนำ หุ้นไทย เกาหลี และ A-Share ทางฝั่งจีนครับผม

ตลาดหุ้นยุโรป

แนะนำสะสมหุ้นยุโรปขนาดเล็กหลังจากตลาดปรับตัวลงเนื่องจากความกังวลถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วตามคาด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลง โดยแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นยุโรปขนาดเล็กเนื่องจากรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการบริโภคในประเทศ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

สำหรับพี่ใหญ่ของเรา แนะนำสะสมหุ้นสหรัฐฯ ต่อไปครับ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มเร่งตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าตั้งแต่ช่วงต้นปี เป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทให้ดี แบบนี้ไปต่อกันได้ครับ

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ผมแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่นต่อกันไปยาวๆ ครับ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในภาคการบริโภคนั้นดูดีทีเดียว นอกจากนี้ ผมมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการกระตุ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ช่วยให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยทางบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นล้วนๆ เอาครับ ลุยกันต่อไปฮะ

สรุปคำแนะนำการลงทุนในสัปดาห์นี้

สำหรับประเทศพัฒนาเน้นสะสมให้ครบทั้ง 3 ตลาดเลยครับ สหรัฐฯ ยุโรป (หุ้นเล็ก) และ ญี่ปุ่นครับ ส่วนตลาดเกิดใหม่เน้นฝั่งเอเชีย โดยเน้นไปที่ ไทย เกาหลี อินเดีย และ A-Share ของจีนครับผม

กลยุทธ์ลงทุนในตลาดตราสารหนี้

ตราสารหนี้สหรัฐฯ

สัปดาห์นี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยุโรป หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ส่งสัญญาณลด QE ในการประชุมรอบเดือน ก.ค. อย่างที่ตลาดคาดไว้ โดยสัปดาห์หน้าต้องจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 24-25 ก.ค.นี้ครับว่าจะมีผลอย่างไรบ้าง

ตราสารหนี้ไทย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1-3 ปี ยังคงทรงตัวอยู่ครับ โดยรับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ตัวเลขดุลการค้าของไทยในเดือน มิ.ย. ปรับตัวขึ้นถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีปัจจัยบวก ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศการลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอยู่