สวัสดีครับผม!!! อัศวินกองทุนยุค Digital กลับมาแล้วครับ

สัปดาห์นี้แนะนำให้ปรับพอร์ตหุ้นไทยลดลงเล็กน้อย แต่ยังทยอยสะสมได้นะครับ รวมถึงสะสมตลาดอื่นๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นอินเดียครับผม

สรุปประเด็นทุกตลาดสำคัญที่น่าสนใจลงทุน พร้อมกับมุมมองแบบนี้ได้ทุกสัปดาห์ ที่นี่ที่เดียวครับ

Focus ประเทศน่าลงทุนประจำสัปดาห์ที่ 5-12 ตุลาคม 2561

สะสมหุ้นสหรัฐฯ หุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น หุ้นไทย หุ้นเกาหลี และหุ้นจีน

เหตุผล : ตอนนี้เริ่มมีความกังวลจากดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ส่งผลให้แนวโน้มพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง และลดการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ลงมาบางส่วน แต่โดยรวมแล้วทุกตลาดยังมีปัจจัยที่ดีอยู่ ดังนั้นสามารถทยอยสะสมได้ ยกเว้น อินเดีย เท่านั้น เนื่องจากมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก

Focus : ได้ทุกตลาดแต่ขอให้ทยอยสะสมและจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม

ความน่าสนใจ : ให้ความสนใจตลาดประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่

Scan การปรับตัวตลาดหุ้นทั่วโลก

สัปดาห์นี้ ผมแนะนำลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยครับ (ลดสัดส่วนนะครับไม่ใช่ห้ามสะสม)  เนื่องจากตลาดหุ้นภูมิภาคเริ่มมีความกังวลจากดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ส่งผลให้แนวโน้มพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ประกอบกับทำให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง และลดการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ลงมาบางส่วน

แต่อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมเป็นช่วงประกาศผลประกอบการในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาดในช่วงที่ผ่านน่าจะส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทออกมาค่อนข้างดี ทำให้ความผันผวนไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับช่วงต้นปีครับผม

ภาพรวมการลงทุน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ข่าวดีของทางฝั่งนี้มีหลายต่อครับ เนื่องจากดัชนีที่มีการปรับตัวขึ้นในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนนะครับว่า สหรัฐฯ มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากการบริโภคในประเทศและการลงทุนเอกชนอยู่ครับ ประกอบกับนโยบายการลดภาษีนั้น จะส่งผลบวกต่อการขยายตัวเศรษฐกิจต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนต่อไปอีกด้วยครับ

ที่สำคัญกว่านั้น ในตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการ ซึ่งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด

สรุปสั้นๆ : ทยอยสะสมต่อครับ

ตลาดหุ้นยุโรป

ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงครับสำหรับหุ้นยุโรป อย่างที่ผมได้บอกมาตลอดว่าการสะสมหุ้นยุโรปขนาดเล็กนั้นจะให้ประโยชน์ในระยะยาว จากเหตุผลที่เคยบอกไปแล้วครับว่า ถ้ามีปัญหาจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าแน่ๆ แม้ว่าสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจากยุโรป ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีความแข็งแกร่งในตัวเองสูงครับ

ประกอบกับ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ ตอนนี้ผมคิดว่ายุโรปยังไปต่อได้ครับ สะสมไปเรื่อยๆ เมื่อยก็พักครับ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงมีเหตุผลเดิมแบบนี้มาเกือบปีแล้ว ผมก็คงต้องบอกว่าก็มันคือความจริงในมุมมองนี้ครับ และถ้าไม่มีอะไรมากระทบมุมมองเดิม หุ้นเล็กของตลาดนี้ก็ยังคงน่าสนใจเหมือนเดิมครับ

สรุปสั้นๆ : สะสมต่อไป แต่ขอให้โฟกัสที่หุ้นเล็กเป็นหลักเหมือนเดิม

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ยังแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่นจากปัจจัยเดิมครับผม หลังจากที่นายชินโซะ อาเบะ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรครัฐบาลปัจจุบันหรือ LDP ต่อ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทส่งออกญี่ปุ่นให้ดีขึ้นอีกด้วยครับ

สรุปสั้นๆ : สะสมต่อไปครับ

ตลาดหุ้นเกาหลี

ยังจัดได้ต่อ แต่ต้องระวังอยู่ครับ เนื่องจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI Index) ของประเทศจีนและสหรัฐฯ มีการชะลอตัวลงและได้ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแออาจมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทที่เป็นผู้ส่งออกในประเทศเกาหลีซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนค่อนข้างสูง

สรุปสั้นๆ : ทยอยสะสมไปต่อได้ครับ

ตลาดหุ้นอินเดีย

เนื่องจากค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าต่อเนื่องกว่า 13% ตั้งแต่ต้นปี อย่างที่ได้บอกไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจกดดันให้ธนาคารกลางอินเดียต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน และเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นเนื่องจาก Valuation ค่อนข้างแพงแล้วด้วยครับ ดังนั้นยังเหมือนสัปดาห์ก่อน คือ รอต่อไปครับ

สรุปสั้นๆ : ยังต้องหยุดพักต่อ รอไปยาวๆ ครับ

ตลาดหุ้นไทย

อาทิตย์ที่ผ่านมาใครหลายคนคงรู้สึกแย่ที่หุ้นไทยทำไมกลับมาผันผวนใช่ไหมครับ แต่สาเหตุจริงๆ ผมมองว่ามาจากการเริ่มมีความกังวลในภูมิภาคหลังจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อหุ้นไทยครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองภาพรวมพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ผมเชื่อว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวดี และการเลือกตั้งที่จะมีในต้นปีหน้าช่วยสนับสนุนบรรยากาศในการลงทุนอีกด้วยครับ นอกจากนั้น เม็ดเงิน LTF ที่เริ่มไหลเข้ามาเพิ่มเติมอีกน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้หุ้นไทยน่าสนใจอยู่ครับ

แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นไทยลงนะครับคนที่มีหุ้นไทยเยอะแล้ว ลองกระจายไปภูมิภาคอื่นๆ บ้างก็ดีครับ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในช่วงนี้ครับผม

สรุปสั้นๆ : แบบนี้ต้องซื้อแล้วล่ะครับ จัดไป

ตลาดหุ้นจีน

ยังสะสมต่อไปได้ครับ เนื่องจากตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงมามากในระดับนึง สะท้อนข่าวสงครามการค้าไว้มากแล้ว ขณะที่อัตราการขึ้นภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ประกาศไว้ที่ 10% ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 25% จะเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นจีนต่อไปครับ

นอกจากนั้น รัฐบาลจีนเริ่มกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และการเพิ่มนโยบายการคลังเช่น นโยบายลดภาษี

สรุปสั้นๆ : กลับมาสะสมครับ

แนะนำการลงทุนประจำสัปดาห์

ตลาดตราสารทุน : สะสมหุ้นสหรัฐฯ, หุ้นยุโรป, หุ้นญี่ปุ่น หุ้นไทย หุ้นเกาหลี และหุ้นจีน

ตลาดตราสารหนี้ : แนะนำลงทุนตราสารหนี้ High Yield ต่างประเทศ ส่วนตราสารหนี้ไทยแนะนำให้ซื้อตราสารหนี้ไทยระยะสั้น

สินทรัพย์ทางเลือก : ทยอยสะสมน้ำมันและทองคำ

สัดส่วนการลงทุนประจำสัปดาห์ : ระดับความเสี่ยงต่ำ

พอร์ตการลงทุนระยะยาว

  • หุ้นไทย 12%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 44%
  • ตราสารหนี้ไทย 44%

พอร์ตการลงทุนระยะสั้น

  • หุ้นไทย 16%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 44%
  • ตราสารหนี้ไทย 44%

สัดส่วนการลงทุนประจำสัปดาห์ : ระดับความเสี่ยงกลาง

พอร์ตการลงทุนระยะยาว

  • หุ้นต่างประเทศ 24%
  • หุ้นไทย 30%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 20%
  • ตราสารหนี้ไทย 20%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ 6%

พอร์ตการลงทุนระยะสั้น

  • หุ้นต่างประเทศ 26%
  • หุ้นไทย 34%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 19%
  • ตราสารหนี้ไทย 19%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : ทองคำ 3%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : น้ำมัน 3%

สัดส่วนการลงทุนประจำสัปดาห์ : ระดับความเสี่ยงสูง

พอร์ตการลงทุนระยะยาว

  • หุ้นต่างประเทศ 40%
  • หุ้นไทย 42%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 5%
  • ตราสารหนี้ไทย 5%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ 8%

พอร์ตการลงทุนระยะสั้น

  • หุ้นต่างประเทศ 42%
  • หุ้นไทย 42%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 4%
  • ตราสารหนี้ไทย 4%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : ทองคำ 4%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : น้ำมัน 4%

“ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน” ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2561

ทั้งนี้ เอกสารนี้จัดทำโดย นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดสรรสินทรัพย์และกองทุนต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเผยแพร่ทั่วไป

โดยข้อคิดเห็นและบทความในเอกสารฉบับนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้ใช้ข้อมูลนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยตนเอง