สวัสดีครับผม!!! อัศวินกองทุน ยุค Digital กลับมาแล้วครับ

สำหรับสัปดาห์นี้ มีตลาดที่น่าสนใจคือ สหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ส่วนที่แนะนำให้ชะลอลงทุน คือ ตลาดเกิดใหม่สองแห่ง อย่างอินเดียและเกาหลีครับ

สรุปประเด็นทุกตลาดสำคัญทั้งหมด และติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ

Focus ประเทศน่าลงทุนประจำสัปดาห์ที่ 28 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2561

สัปดาห์นี้เน้นที่ตลาดพัฒนาครับ "ซื้อสหรัฐฯ สะสมยุโรป และ "ญี่ปุ่น"
เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จากการบริโภคในประเทศและการลงทุนเอกชน ค่าเงินยูโรและเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่า สนับสนุนหุ้นกลุ่มผู้ส่งออกเหมือนเดิม ภาพรวมยังไปต่อได้

  • Focus : ตลาดสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น
  • ความน่าสนใจ : เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคในประเทศเติบโต

Scan การปรับตัวตลาดหุ้นทั่วโลก

  • ภาพรวมตอนนี้ ยังแนะนำให้นักลงทุนทยอยสะสมหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอยู่ครับ นั่นคือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และขอให้ระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะอินเดีย และเกาหลี จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจผลักให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด สร้างกดดันต่อสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่
  • ขณะที่ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมักมีความผันผวนน้อยกว่าในช่วงธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย เหตุการณ์ยังคล้ายกับสัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้ผมเลยยังให้ความเห็นโดยรวมไม่ต่างจากเดิมครับผม

Insight ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

สำหรับฝั่งสหรัฐฯ สัปดาห์นี้แนะนำให้ซื้อหุ้นสหรัฐฯ ต่อไปครับ เนื่องจากเหตุผลเดิมๆ ที่เรามองเห็นกัน นั่นคือเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จากการบริโภคในประเทศและการลงทุนเอกชน นอกจากนี้ ผมมองว่าน่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวเศรษฐกิจต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดอีกต่อหนึ่งครับ ซึ่งภาพรวมนี้ยังอาจจะต่อเนืองไปอีกสักระยะ และเป็นปัจจัยบวกล้วนครับผม

สรุปสั้นๆ : ซื้อต่อไปครับ

Insight ตลาดหุ้นยุโรป

ไปต่อกันครับ!! สำหรับหุ้นยุโรป จากมูลค่าของหุ้นยุโรปที่น่าสนใจมากครับ รวมถึงผลประกอบการที่คาดว่าจะดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ครับ  โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มส่งออกที่ได้รับปัจจัยบวกจากการมีแนวโน้มอ่อนค่าของเงินยูโรหลังจาก ECB ส่งสัญญาณ dovish ผ่อนปรนเกี่ยวกับเงินเฟ้อกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

สรุปสั้นๆ : โดยรวมยังไปต่อได้ครับ สะสมต่อกันไปครับ

Insight ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

สัปดาห์นี้ยังแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่นต่อไปครับ เนื่องจากผมมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงมาตรการ QE ต่อไปเนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกของญี่ปุ่นกลับมาหดตัวลง -0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลดีครับ

นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวขึ้นกว่า 2% ในเดือน มี.ค. ซึ่งปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี เป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งก็เป็นผลดีอีกนั่นแหละครับผม

สรุปตอนนี้ : ยังทยอยสะสมต่อไปได้ครับ ลุยครับผม

Insight ตลาดหุ้นอินเดีย

หยุดก่อนนะครับ สำหรับคนที่จะคิดสะสมหุ้นอินเดีย เนื่องจากตอนนี้ดุลการค้ามีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าพลังงานอยู่ ทำให้ค่าเงินรูปีมีแนวโน้มอ่อนค่าและอาจกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกไป

สัปดาห์นี้เหมือนเดิมตรงที่ว่า อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางอินเดียอาจกลับมาส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งส่งผลลบต่อตลาดหุ้นอินเดียครับ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปครับ

สรุปสั้นๆ : หยุดสักพัก ชะลอไปก่อน รอดูท่าที เดี๋ยวค่อยว่ากันต่อไปครับ

Insight ตลาดหุ้นเกาหลี

เหมือนกันกับสัปดาห์ก่อนเป๊ะเลยครับ ผมแนะนำให้ชะลอการลงทุนหุ้นเกาหลีไปอีกสักระยะครับ (หลายระยะแล้วนะ ฮ่าๆ)  เนื่องจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเดือนที่ผ่านมาของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ออกมาชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเกาหลีมีแนวโน้มชะลอลง

ส่วนผลของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไร อาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงอย่างเกาหลีได้อีกครับ

สรุปสั้นๆ : ชะลอต่อครับ และน่าจะชะลอยาวเลยล่ะครับ

Insight ตลาดหุ้นไทย

ความผันผวนที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยกระทบระยะสั้น และผมมองว่าเป็นโอกาสให้ทยอยสะสมหุ้นไทยต่อไปครับ เพราะภาพรวม เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนกลุ่มอื่นเช่นกัน

สรุปสั้นๆ : ทยอยสะสมกันต่อไปจ้า

Insight ตลาดหุ้นจีน

A-SHARE กลับมาแล้วครับ ส่วน H-SHARE ไปได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว สัปดาห์นี้ผมแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีนหลังจาก MSCI ประกาศการเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-share กว่า 200 บริษัทในดัชนี MSCI Emerging Markets ทำให้กองทุนทั่วโลกที่ใช้ดัชนี MSCI Emerging Markets เป็นตัวเทียบวัดกับผลการดำเนินงาน จะต้องเพิ่มการลงทุนในหุ้น A-share ด้วยเช่นกัน แบบนี้คือดีต่อใจของคนมีหุ้นจีนแน่นอนครับ

สรุปสั้นๆ : กลับมาแล้วจ้า ทยอยสะสม A-SHARE กันได้เลย

แนะนำการลงทุนประจำสัปดาห์ จากอัศวินกองทุน

  • ตลาดตราสารทุน : ซื้อสหรัฐฯ ทยอยสะสมญี่ปุ่นและยุโรป หุ้นไทย, H-Share, หุ้น A-Share และชะลอการลงทุนในหุ้นอินเดียและหุ้นเกาหลี
  • ตลาดตราสารหนี้ : แนะนำคงการลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวต่างประเทศ ส่วน
  • ตราสารหนี้ไทย : แนะนำให้ซื้อตราสารหนี้ไทยช่วงอายุ 1-3 ปี
  • สินทรัพย์ทางเลือก : ทยอยสะสมทั้งทองคำแต่ชะลอการลงทุนในน้ำมัน

เรามาดูสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำประจำสัปดาห์กันบ้างครับ

สัดส่วนการลงทุนประจำสัปดาห์ : ระดับความเสี่ยงต่ำ

พอร์ตการลงทุนระยะยาว (การวางแผนการลงทุนในระยะยาว)

  • หุ้นไทย 12%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 44%
  • ตราสารหนี้ไทย 44%

พอร์ตการลงทุนระยะสั้น (การปรับพอร์ตตามสถานการณ์)

  • หุ้นไทย 12%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 40%
  • ตราสารหนี้ไทย 48%

สัดส่วนการลงทุนประจำสัปดาห์ : ระดับความเสี่ยงกลาง

พอร์ตการลงทุนระยะยาว (การวางแผนการลงทุนในระยะยาว)

  • หุ้นต่างประเทศ 24%
  • หุ้นไทย 30%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 20%
  • ตราสารหนี้ไทย 20%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ 6%

พอร์ตการลงทุนระยะสั้น (การปรับพอร์ตตามสถานการณ์)

  • หุ้นต่างประเทศ 25%
  • หุ้นไทย 30%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 15%
  • ตราสารหนี้ไทย 25%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : ทองคำ 3%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : น้ำมัน 2%

สัดส่วนการลงทุนประจำสัปดาห์ : ระดับความเสี่ยงสูง

พอร์ตการลงทุนระยะยาว (การวางแผนการลงทุนในระยะยาว)

  • หุ้นต่างประเทศ 40%
  • หุ้นไทย 42%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 5%
  • ตราสารหนี้ไทย 5%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ 8%

พอร์ตการลงทุนระยะสั้น (การปรับพอร์ตตามสถานการณ์)

  • หุ้นต่างประเทศ 41%
  • หุ้นไทย 42%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 4%
  • ตราสารหนี้ไทย 6%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : ทองคำ 4%
  • สินค้าโภคภัณฑ์ : น้ำมัน 3%

หมายเหตุ : “ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน” ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 17 เม.ย. 2561

ทั้งนี้ เอกสารนี้จัดทำโดย นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดสรรสินทรัพย์และกองทุนต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเผยแพร่ทั่วไป โดยข้อคิดเห็นและบทความในเอกสารฉบับนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้ใช้ข้อมูลนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยตนเอง