Steve Jobs คือ ผู้ร่วมคิดค้น IPhone — สมาร์ทโฟนที่คนค่อนโลกกำลังถืออยู่ในมือขณะนี้......คิดว่าทุกคนคงรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว

Steve Jobs คือ CEO ของ Apple ที่สร้างระบบปฏิบัติการแมคอินทอช, Imac, Macbook, IPad......เรื่องนี้ทุกคนก็น่าจะรู้อยู่แล้วเช่นกัน

แต่ผลงานใหญ่ยักษ์อีกหนึ่งชิ้น ที่เปลี่ยนแปลงโลกการ์ตูนไปตลอดกาล ซึ่ง Steve Jobs ได้ร่วมสร้างขึ้นโดยใช้ความรู้และไอเดียสร้างสรรค์มาสานฝันให้กับตัวเองและเด็กๆ ทั้งโลก จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจากคอมพิวเตอร์—หรือที่เรียกกันว่าแอนิเมชั่น—ที่มีตัวละครและเรื่องราวตราตรึงใจคนทั้งโลกอย่าง Toy Story 1-3, Finding Nemo,Inside Out และ Up

"เรากำลังพูดถึง Pixar—บริษัทผู้พลิกโลกการ์ตูนด้วยคอมพิวเตอร์"

การลาออกคือจุดเริ่มต้นของ Steve Jobs

ปี 1985 หลังก่อตั้งบริษัท Apple 9 ปี ด้วยความมุทะลุทำให้ Steve Jobs ในวัย 30 ปี มักจะมีอารมณ์โมโหร้ายเมื่อผลิตภัณฑ์หรือโปรเจคต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เขาคิด ทำให้เขามีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมก่อตั้งและทีมบริหาร จนในที่สุดจ็อบส์ก็ถูกคณะกรรมการบริหารของบริษัทถอดถอนออกจากโปรเจคต่างๆ ทำให้จ็อบส์ตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเอง

2 สิ่งที่ Steve Jobs ทำหลังจากลาออกคือ

  • 1. ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อว่า NeXT โดยผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือซอฟท์แวร์ทื่ส่งเสริมงานทางด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา
  • 2. ซื้อทีมคอมพิวเตอร์กราฟิกและแอนิเมชั่นมาจากบริษัทของเพื่อนที่ชื่อว่า LucasFilm ซึ่งคือทีมที่ทำกราฟิกทั้งหลายให้กับสตาร์ วอร์ส!

จ็อบส์ลงทุนซื้อด้วยเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยครึ่งหนึ่งสำหรับเพื่อนของเขาที่ต้องการนำเงินไปใช้ในการหย่ากับภรรยา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนำมาใช้เป็นเงินทุนสำหรับบริษัทที่ชื่อว่า Pixar

Steve Jobs สร้าง 1 ทีมเล็กเป็น 1 บริษัทใหญ่

แม้ว่าทีมคอมพิวเตอร์กราฟิกของ LucasFlim จะเป็นทีมทำกราฟิกให้กับ สตาร์ วอร์ส ที่พยายามจะสร้างให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดเท่าที่ยุคนั้นจะมีได้ แต่อันที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นทีมคอมพิวเตอร์กราฟฟิกนั้นส่วนใหญ่มีแต่นักวิทยาศาสตร์และคนที่เก่งเรื่องโปรแกรมเสียมากกว่า

จนกระทั่งลูคัสได้พบกับ จอห์น ลาสเตอร์ อดีตพนักงานของดิสนีย์ที่ถูกไล่ออกมาด้วยโปรเจคที่เขาพยายามสร้างการ์ตูนโดยใช้คอมพิวเตอร์นั่นเอง

หลังจากที่ทำสตาร์ วอร์สเสร็จสิ้นแล้ว จอห์นและทีมก็ร่วมกันผลักดันให้เกิดซอฟท์แวร์ที่เอื้อต่อการทำแอนิเมชั่น ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้ารายใหญ่ที่พวกเขามองไว้ก็ต้องเป็นดิสนีย์อย่างแน่นอน

แต่ด้วยยุคสมัยตอนนั้น ดิสนีย์ยังมองว่าเทคโนโลยีที่ว่ายังมีราคาแพงและใช้เวลานาน พวกเขาจึงเลือกที่จะทำการ์ตูนด้วยการวาดมือต่อไป

ครั้นจะให้ทีมทำการ์ตูนด้วยซอฟท์แวร์ที่สร้างขึ้นเองก็สู้ต้นทุนประมาณ 30 - 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการทำภาพยนตร์ก็คงจะไม่ไหว

นักลงทุนอย่าง 'Steve Jobs' จึงเป็นคำตอบสุดท้าย

Steve Jobs คือไฟนำทางให้ Pixar

คนส่วนใหญ่รู้ว่าจ็อบส์คือผู้สร้าง Pixar แต่นั่นเป็นเพียงความจริงครึ่งเดียว เพราะเคสของ Pixar เขาคือ Investor หรือนักลงทุนและถือหุ้นของบริษัทส่วนใหญ่เอาไว้โดยเขาดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท

แม้ว่าจ็อบส์จะไม่ได้เป็นต้นคิดของภาพยนตร์แอนิเมชั่น แต่เขาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ Toy Story ภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเรื่องแรกของโลก ได้ถือกำเนิดขึ้นมาและได้ฉายในโรงภาพยนตร์...นั่นก็คือการบริหารและให้วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ

จ็อบส์เล็งเห็นว่า Pixar มีบุคลากรที่พร้อมจะทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นด้วยตัวเองทุกกระบวนการ แต่แทนที่จ็อบส์จะพยายามเร่งให้ทีมสร้างภาพยนตร์ให้ได้ปีละหลายๆ เรื่อง เขาเลือกที่จะให้ทีมทำแค่ปีละหนึ่งเรื่องเท่านั้น ขอเพียงแค่ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะต้องมีคุณภาพที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่จะได้รางวัล

เขาจึงเสนอให้ทีมสร้างบทแอนิเมชั่นขึ้นมาสักเรื่อง และเขาจะเป็นคนไปเจรจากับนายทุนยักษ์ใหญ่ของวงการนี้นั่นก็คือ...ดิสนีย์

Disney ยอมเป็นผู้ออกทุนให้ Pixar สร้าง Toy Story เพราะ Steve Jobs

แม้จะมีปัญหาระหว่างการทำบ้าง เช่น ดิสนีย์มองว่าตัวละคร วู้ดดี้ หยาบคายไปหน่อยจนเกือบจะยุบโปรเจค แต่ก็ได้จ็อบส์เป็นคนออกหน้าและเจรจา และทำให้ทีมกลับมาแก้บทน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

จ็อบส์จะเข้ามาที่บริษัทเดือนละสองครั้งเพื่อเข้ามาดูและวิจารณ์หนังที่ยังไม่เสร็จ เพราะสตีฟเชื่อว่าเขาเป็นคนที่อยู่วงนอกสุดและแทบไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบทเลย ดังนั้นเขาจึงสามารถเป็นคนที่วิจารณ์ได้เที่ยงตรงเสมือนเป็นคนดูจริงๆ

3 คำสร้างพลังจาก Steve Jobs

‘Make it great’ เป็นประโยคที่จ็อบส์มักจะพูดกับผู้ร่วมงานอยู่เสมอ...รวมถึงที่ Pixar ด้วย ซึ่งทีมงานทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ารายละเอียดและความอลังการในทุกๆ เฟรมเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของจ็อบส์

“ถ้าเราสามารถสร้างการ์ตูนที่มีวิธีการเล่าที่ยอดเยี่ยม มีตัวละครที่ตรึงใจผู้ชม และทำให้มันยิ่งใหญ่ได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ไม่ว่าผู้ชมจะมีอายุเท่าไหร่ พวกเขาก็จะรักและประทับใจได้เสมอ” เป็นคำพูดที่ลาสเตอร์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิธีคิดของทีมที่รับต่อมาจากจ็อบส์ จนทำให้การ์ตูนของพวกเขายังคงยอดเยี่ยมอยู่เสมอ

I think Pixar has the opportunity to be the next Disney—not replace Disney—but be the next Disney.

- Steve Jobs -

ในปี 2006 ดิสนีย์ก็ต้องยอมแพ้ให้กับความสามารถทางด้านแอนิเมชั่น ทำให้ตัดสินใจซื้อ Pixar ด้วยการแลกหุ้นกับจ็อบส์ มูลค่าการซื้อขายในครั้งนี้อยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้จ็อบกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดิสนีย์ไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่จ็อบลงทุนไปแค่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ความอ่อนโยนจาก Pixar ช่วย Steve Jobs

นอกจากจ็อบส์จะเป็นคนเปลี่ยนทิศทางการทำงานให้กับทีม Pixar แล้ว Pixar เองก็ได้เปลี่ยนแปลงจ็อบส์ไปเช่นกัน เพราะจ็อบส์จะมีปัญหากับคนในบริษัทอยู่ตลอดเนื่องจากความเป็น Perfectionism เขาต้องการอยู่ในทุกๆ กระบวนการเพื่อให้แน่ใจว่าทุกผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามที่เขาคิด

แต่จากคำบอกเล่าของเอ็ด แคทมูลล์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Pixar ว่าจ็อบส์ได้ค้นพบว่าการพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอนและพยายามเค้นให้ทีมสร้างสิ่งที่ดีที่สุดนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เอ็ดเป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของจ็อบส์ที่เปิดใจรับฟังความเห็นของคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจ็อบส์เรียนรู้ที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ดีและเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจคน

และเมื่อ NExT ถูกซื้อกิจการโดย Apple จ็อบส์จึงได้กลับไปเป็น CEO อีกครั้ง แต่เป็น Steve Jobs...คนใหม่ที่มีวิสัยทัศน์เฉียบแหลม ไอเดียสร้างสรรค์ และความเข้าใจต่อเพื่อนร่วมงาน 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เขาเหมาะสมที่สุดที่จะถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด

sources :

https://www.fastcompany.com/3028955/how-steve-jobs-changed-pixar-and-how-pixar-changed-steve-jobs

http://www.alvyray.com/Pixar/PixarMyth1.htm

https://www.forbes.com/sites/carminegallo/2013/12/05/the-single-greatest-piece-of-advice-steve-jobs-gave-frozen-executive-producer-john-lasseter/#65df73fe5c57

thedailybeast.com

macrumors.com

wired.com