เบต้า (beta) เป็นค่าพารามิเตอร์หนึ่งของหุ้นที่เพิ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายและนิยมในหมู่นักลงทุนได้ไม่นาน แต่ในทางทฤษฎีการเงิน ค่าเบต้าถือว่าอยู่ยงคงกระพันมาเป็นเวลานานแล้ว

ว่าแต่ค่าเบต้าคืออะไร?

เบต้า คือ ตัวแปรค่าหนึ่งซึ่งนำไว้บอกความผันผวนของหุ้นเมื่อเทียบกับตลาด โดยคำนวณจากสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนร่วมของหุ้นกับตลาดหารด้วยความแปรปรวนของตลาด

ใจเย็น อย่าเพิ่งกดปิดหนีไป

อธิบายง่ายๆ แบบนี้ เบต้าคือค่าหนึ่งที่เอาไว้บอกว่าถ้าตลาดเปลี่ยนแปลงไป 1 เท่า หุ้นที่เราสนใจจะเปลี่ยนแปลงไปกี่เท่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้น ADVANC มีค่าเบต้าเท่ากับ 1 เท่า แปลว่า ถ้า SET INDEX บวก 2% หุ้น ADVANC ก็จะบวก 2% ด้วย หรือถ้าหุ้น ITD มีค่าเบต้าเท่ากับ 1.5 แปลว่า ถ้า SET INDEX ลบ 3% หุ้น ITD จะลบไป 4.5% ด้วย และถ้า BDMS มีค่าเบต้าเท่ากับ 0.75 แปลว่าถ้า SET INDEX ลบ 1% แปลว่า หุ้น BDMS ก็จะลบไป 0.75% เท่านั้น

ค่าเบต้าก็คืออัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับตลาดนั่นเอง

ค่าเบต้านั้นในอดีตจำเป็นต้องคำนวณเอง แต่ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ใจดีและมีค่าเบต้าแสดงไว้ให้ โดยนักลงทุนสามารถเข้าไปที่ website ของตลาดหลักทรัพย์ กดดูข้อมูลรายบริษัท และเลือกหัวข้อสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนในหน้าบริษัท/หลักทรัพย์ ในแผ่นข้อมูลที่แสดงก็จะมีค่าเบต้าแสดงอยู่

แต่ค่าเบต้าเป็นค่าทางสถิติ ดังนั้น หมายความว่าค่าเบต้าเป็นค่าที่บอกถึง “ความน่าจะเป็น” เท่านั้น คือ หุ้นเบต้าเท่ากับ 1 ก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวเหมือนตลาดเป๊ะก็ได้ เพียงแต่แนวโน้มจะใกล้เคียง 1 ค่าเบต้าจึงไม่ได้เอามาคำนวณได้ทุกอย่างว่าตลาดเคลื่อนไหวเท่านี้ หุ้นเราจะเคลื่อนไหวเท่าไหร่ แต่จะบอกได้ว่า ตลาดเคลื่อนไหวเท่านี้ หุ้นเรา “น่าจะ” เคลื่อนไหวเท่าไหร่

หุ้นเบต้ามากผันผวนมาก หุ้นเบต้าน้อยผันผวนน้อย และนี่คือสิ่งที่เรานำมาใช้จริงในการจัดพอร์ตได้

ว่าแต่ค่าเบต้านำมาประยุกต์ใช้อย่างไรในการลงทุนได้บ้าง

1. นักลงทุนที่รับความผันผวนได้น้อย

นักลงทุนพื้นฐานบางคนรู้ตัวว่าสามารถรับความผันผวนของราคาไม่ได้มาก การเลือกหุ้นกลุ่มที่มีค่าเบต้าต่ำจะตรงกับแนวทางมากที่สุด เพราะราคาหุ้นจะผันผวนไปตามตลาดน้อย ถ้าเป็นนักลงทุนที่รับความผันผวนไม่ได้มากก็จะเหมาะเพราะสามารถถือหุ้นได้อย่างค่อนข้างสบายใจ

2. นักลงทุนแบบ momentum investors

นักลงทุนกลุ่มนี้จะมองเห็นภาพตลาดขึ้นลงเป็นวัฏจักร ดังนั้น นักลงทุนกลุ่มนี้จะสามารถจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะตลาดได้ โดยช่วงตลาดขาขึ้น นักลงทุนจะจัดพอร์ตโดยกลุ่มหุ้นที่มีค่าเบต้าสูง โดยคาดหวังว่าหุ้นในพอร์ตจะขึ้นแรงกว่าตลาด และช่วงตลาดขาลง นักลงทุนจะเปลี่ยนมาถือหุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำ โดยคาดหวังว่าหุ้นในพอร์ตจะลงน้อยกว่าตลาด เพื่อรักษาความมั่งคั่งไว้จนกว่าตลาดจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง

3. นักลงทุนแนว value investors ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง

นักลงทุนแนวเน้นคุณค่านั้นอาจจะไม่ได้พิจารณาว่าเบต้านั้นสำคัญเท่าไหร่นัก แต่ถ้านักลงทุนถือหุ้นในสัดส่วนมากๆ ของความมั่งคั่ง นักลงทุนอาจเพิ่มสัดส่วนของหุ้นที่มีเบต้าต่ำเพื่อทำให้ความผันผวนภาพรวมของพอร์ตลดลง แต่ถ้านักลงทุนสามารถทนกับความผันผวนได้ การกระจายมาถือหุ้นเบต้าต่ำก็อาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก

ในแง่ของการลงทุนกองทุนรวม มีหลายกองทุนที่นำค่าเบต้าไปประยุกต์ใช้ในการลงทุนเหมือนกัน เนื่องจากการเลือกหุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำก็จะทำให้ภาพรวมนั้น ผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้นต่ำกว่าตลาด ซึ่งจะเหมาะกับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ไม่มาก อีกส่วนหนึ่งคือหุ้นเบต้าต่ำส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีความมั่นคงค่อนข้างสูง เช่น หุ้นโรงพยาบาล หุ้นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม หุ้นน้ำประปา หุ้นรถไฟฟ้า ซึ่งบริษัทเหล่านี้เหมาะกับการถือลงทุนในระยะยาว นั่นอาจจะเหมาะกับนักลงทุนที่ชอบถือกองทุนในระยะยาวอีกด้วย

ตัวอย่างกองทุนรวมนี่ดึงการลงทุนในหุ้นเบต้าต่ำมาเป็นนโยบายหลักของกองทุนรวมในปัจจุบัน ได้แก่ T-lowbeta, T-lowbetaRMF, T-primelowbeta ซึ่งทั้งสามกองทุนรวมนั้นเป็นของบลจ.ธนชาต โดยถ้าดูจากผลตอบแทนของกองทุน T-lowbeta ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เปิดมานานที่สุดในสามกองนี้ก็เห็นความแตกต่างที่น่าสนใจ

โดยผลตอบแทนของกองทุน T-lowbeta นั้นสามารถชนะผลตอบแทนของตลาดได้สูงถึง 16.57% และ 16.61% ในปี 2013 และ 2015 ตามลำดับในปีที่ตลาดเป็นขาลง แต่ในปี 2014 ที่ตลาดเป็นขาขึ้น กองทุนรวมสามารถชนะตลาดได้ 4.96% และในปีปัจจุบัน ผลตอบแทนของกองทุนรวมยังแพ้ตลาดอยู่ประมาณ 8% จากวันที่เขียนบทความ

เห็นได้ชัดว่ากองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหุ้นเบต้าต่ำนั้นจะให้ผลตอบแทนในภาพรวมที่ไม่หวือหวามากนัก แต่ก็น่าจะเหมาะกับการถือลงทุนในระยะยาว เพราะโดยภาพรวมแล้วก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกปี โดยอาจจะแพ้ตลาดอยู่บ้างในปีที่ตลาดเป็นขาขึ้นอย่างมาก แต่ในปีที่ตลาดเป็นขาลง กองทุนรวมก็สามารถตลาดได้อย่างชัดเจน

โดยสรุป ค่าเบต้าจึงเป็นค่าพารามิเตอร์อีกค่าหนึ่งที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ชอบหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีความผันผวนต่ำ เพราะค่าดังกล่าวรวบรวมมาจากการเคลื่อนไหวของราคาในอดีตเปลี่ยนมาเป็นตัวเลข ทำให้จับต้องและเปรียบเทียบได้ง่าย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสะดวกสำหรับนักลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเบต้าไม่ใช่ทุกอย่างของหุ้นหรือกองทุนรวม เพียงแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาร่วมพิจารณาได้เท่านั้น นักลงทุนควรวิเคราะห์ปัจจัยในแง่มุมอื่นก่อนลงทุนด้วยเสมอ

ลงทุนศาสตร์ - Investerest