ตลาดหุ้นไทยตอนนี้คล้ายหนังสยองขวัญเข้าไปทุกที

หลังจากที่ดัชนี SET INDEX ขึ้นไปแตะ 1,550 จุดได้ไม่นาน และในขณะที่นักลงทุนต่างพากันลุ้นให้ตลาดไปแตะ 1,600 จุด แต่ตลาดกลับเลือกทางตรงกันข้าม ดัชนีร่วงกราวรูดมาหลายวันทำการติดต่อกัน ลบวันละยี่สิบจุด สามสิบจุด สี่สิบจุด จน ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ก็ใกล้จะหลุดแนวรับแถว 1,411 จุดเต็มทน

เราในฐานะนักลงทุนจะรับมืออย่างไรดี?

ถ้าเราเป็นนักลงทุนหุ้น เราก็คงต้องทำตามวินัย หากเป็นนักเก็งกำไรก็ควรจะต้อง “หนี” ตั้งแต่ดัชนีทำท่าจะหลุดแนวรับสำคัญแถว 1,500 จุดแล้ว แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนแบบพื้นฐาน การที่ตลาดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงแบบนี้อาจจะเป็นโอกาสอันดีในการเลือกหุ้นคุณภาพดีราคาไม่แพงเข้ามาไว้ในพอร์ต

แต่ถ้าหากเราเป็นนักลงทุนในกองทุนรวม เราควรจะจัดการอย่างไรบ้าง?

คำตอบแรกคือ เงินลงทุนที่อยู่ในกองทุนรวมหุ้นอยู่แล้วแนะนำให้อยู่เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องขายออกมา เพราะผู้จัดการกองทุนที่ดูแลเงินเราอยู่จะจัดการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ให้ เรามีหน้าที่แค่ “เข้าใจ” ว่าความผันผวนเป็นธรรมดาของตลาดหุ้น นักลงทุนในกองทุนรวมควรถือลงทุนในระยะยาว ซึ่งเมื่อผ่านช่วงนี้ไปได้ มูลค่าหน่วยลงทุนก็น่าจะกลับมาสดใสเหมือนเดิม

ส่วนในกรณีที่มีเงินก้อนใหม่ที่จะซื้อกองทุนรวมเพิ่ม นักลงทุนควรทำอย่างไรดี จะซื้อกองทุนรวมหุ้นอีกก็กลัวว่าจะขาดทุน ลงทุนศาสตร์เสนอวิธีการรับมือไว้ 2 วิธี ดังนี้

1. การลงทุนแบบ DCA

หากเราเป็นนักลงทุนแบบ DCA ซื้อทยอยซื้อสะสมโดยไม่สนใจตลาด แบบนี้ไม่ต้องปรับอะไรเลย ลงทุนอย่างมีวินัยต่อไป เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ยิ่งตลาดลงยิ่งดี เพราะเราได้จะได้หน่วยลงทุนมากขึ้น มีแต่คุ้มกับคุ้ม

2. การลงทุนแบบจับจังหวะตลาด

หากเราเป็นนักลงทุนแบบจับจังหวะตลาด คือ บริหารพอร์ตกองทุนรวมโดยอิงกับสถานการณ์ตลาดทุนด้วย แบบนี้นักลงทุนศาสตร์จัดกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตลาดขาลงได้ โดยหากเรามั่นใจว่าตลาดหุ้นเป็นขาลง เราสามารถปรับสมดุลของพอร์ตให้มีสัดส่วนของกองทุนรวมหุ้นลดลง โดยอาจไปเพิ่มสัดส่วนของกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำลงมา เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรืออาจโยกย้ายพอร์ตไปยังตลาดที่น่าจะยังเป็นขาขึ้นอยู่ เช่น กองทุนรวมในตลาดหุ้นต่างประเทศ และยังคงสามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตได้ด้วยการถือสินทรัพย์อื่นเช่นกัน เช่น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน

ตัวอย่างการจัดพอร์ตกองทุนรวมในภาวะตลาดหุ้นไทยขาลง

ตัวอย่างในตารางเป็นเพียงตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวมเท่านั้น ในทางปฏิบัติ นักลงทุนควรมีแผนการลงทุนเป็นของตัวเอง ยิ่งนักลงทุนมองภาพว่าตลาดหุ้นไทยเป็นขาลง นักลงทุนควรลดสัดส่วนการถือครองกองทุนรวมหุ้นไทยลดลง และกระจายเงินลงทุนไปไว้ที่ตลาดอื่นแทน หรืออาจจะถือกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำเพิ่มเพื่อรอจังหวะตลาดหุ้นกลับมาสดใสอีกครั้ง

นอกจากนี้ การจัดพอร์ตการลงทุนที่ควรทำการปรับพอร์ตให้สัดส่วนเป็นไปตามที่วางแผนไว้เสมอ เช่น หากวางแผนจะถือกองทุนรวมตลาดเงิน 50% และกองทุนรวมหุ้นไทย 50% และเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท ถือลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน 5,000 บาทและกองทุนรวมหุ้นไทย 5,000 บาท ต่อมาหนึ่งเดือน กองทุนรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเหลือ 4,000 บาท ในขณะที่กองทุนรวมตลาดเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5,100 บาท แบบนี้คือมูลค่าการลงทุนรวมกลายเป็น 9,100 บาท นักลงทุนจึงควรขายกองทุนรวมตลาดเงินออก 550 บาท เพื่อไปซื้อกองทุนรวมหุ้นไทยให้เป็น 4,550 บาทกลายเป็นสัดส่วน 1 : 1 เท่าเดิม

นักลงทุนกองทุนรวมที่จับจังหวะตลาดควรติดตามสภาพพอร์ตการลงทุนเสมอ และทำการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนให้เหมาะสมกับแผนที่วางไว้และสภาพตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อจัดการผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงของการลงทุนให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแบบ DCA หรือนักลงทุนแบบจับจังหวะตลาดก็สามารถลงทุนประสบความสำเร็จได้ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญมากในการลงทุนคือความรู้และวินัยในการลงทุน ซึ่งนักลงทุนควรหมั่นฝึกฝนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม

ลงทุนศาสตร์ - Investerest