สวัสดีครับ นักลงทุนกองทุนรวมทุกท่าน ผมเชื่อว่า ถ้าเอ่ยถึงกองทุน Trigger Fund แล้วละก็ หลาย ๆ ท่าน คงพอจะรู้จักกันอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ มักจะรู้จักในเชิงที่ว่า กองทุนแบบนี้ จะกำหนดอัตราผลตอบแทนคาดหวัง และระยะเวลามาให้ เช่น ผลตอบแทนคาดหวัง 5% ในระยะเวลา 6 เดือน

ซึ่งถ้าถึงเป้าหมายตามที่กองทุนกำหนดก็จะทำการปิดกองทุน และคำนวณผลตอบแทนส่งกลับไปทางนักลงทุนทันที  นักลงทุนบางส่วนจึงชอบกองทุนประเภทนี้มาก เพราะว่าเปรียบเสมือนมีคนมาช่วยหาจังหวะขายและทำกำไรให้ระหว่างที่ถือกองทุนอยู่นั่นเอง แต่ว่าการที่กองทุนทำผลตอบแทนได้ถึงตามที่คาดหวังไว้ ก็จะทำการปิดกองทุนนั้น

ถ้าเราลองมองกลับด้าน ก็จะพบว่าเมื่อกองทุนขาดทุน จะไม่ได้มีการปิดกองทุนแต่อย่างใด บางครั้งก็เปิดเป็นกองทุนเปิดที่สามารถซื้อขายได้อย่างปกติ เปรียบเสมือนว่าการลงทุนกับกองทุนแบบนี้ เป็นการ “Limit Gain แต่ไม่ได้ Limit Loss” ครับ

ทำให้การลงทุนในกองทุนประเภทนี้ดูแล้วก็จะค่อนข้างที่จะทำให้นักลงทุนเสียเปรียบอยู่พอสมควรเลยครับ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ บลจ. เข้าใจตรงจุดนี้ดี จึงเป็นที่มาของกองทุน Trigger ประเภทใหม่ ที่มีการกำหนดจุด 'Cut loss' หรือ 'จุดตัดการขาดทุน' ไว้ด้วย ทำให้การขาดทุนที่ไม่จำกัดของกองทุนประเภทนี้ลดลงนั่นเองครับ

ยกตัวอย่างเช่น กองทุน Smart Trade 555 (แลดูเป็นกองทุนที่อารมณ์ดีมาก ๆ มีความขำอยู่ 555+) เป็นกองทุนที่มีการกำหนดจุดขาดทุนที่ 5% ด้วยนั่นเองครับ โดยผลตอบแทนของกองทุนทริกเกอร์ฟันด์โดยทั่วไปจะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนของตลาด โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นดีๆ ก็มักจะมีกองทริกเกอร์เกิดใหม่จำนวนมาก และพอเริ่มมีกองทริกเกอร์ที่ปิดกองได้ก็จะมีกองอื่นๆ ปิดกองได้ในเวลาไล่เลี่ยตามกันมา

แต่เมื่อตลาดกลับตัวเป็นขาลง ก็พบว่าแทบจะไม่มีกองทริกเกอร์กองไหนปิดกองได้ เพราะหุ้นในตลาดเกือบทั้งหมดให้ผลตอบแทนเป็นลบ ดังนั้นภาวะตลาดมีส่วนสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ส่วนใหญ่

ถึงแม้ว่าในภาวะตลาดปัจจุบันที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้วแต่ยังอาจมีความผันผวนในอนาคตเพื่อไม่ให้ทิศทางตลาดมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ กองทุน SCBST555B จึงมีแนวทางในการลงทุนโดยอาศัยความสามารถในการคัดเลือกหลักทรัพย์ของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก โดยมีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อกำจัดความเสี่ยงจากตลาดออกไปทำให้ผลตอบแทนของกองทุนจึงขึ้นกับความสามารถในการคัดเลือกหลักทรัพย์เป็นหลัก

ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 24 มิ.ย. 59 หลังจากการลงประชามติออกจาก EU ของ อังกฤษ (Brexit) ผลตอบแทนของ SET Index ในวันดังกล่าว -1.62% แต่ในขณะที่ผลตอบแทนของกองทุน SCBST555A อยู่ที่ +0.41%

นโยบายการลงทุน

จุดเด่นคือ เป็น Trigger Fund ที่มีการ Cut Lost และ มีโอกาสรับผลตอบแทน 2 ครั้งๆ ละ ประมาณ 5%  และมีการป้องกันความเสี่ยงตลาดขาลง โดยจะ Stop loss ที่ –5% (จากมูลค่าพาร์) ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับแนวคิดในการเลือกหุ้น คือ แบ่งหุ้น ออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้

  • Core portfolio stock โดยนักวิเคราะห์จะคัดเลือกโดยพิจารณาจาก business model เป็นหลักและมีความสามารถในการทำกำไรสูง
  • Trading Stock โดยจะคัดเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มของผลกำไรที่ดี หรือ หุ้นที่มีราคาตลาดแตกต่างจาก มูลค่าที่แท้จริง ณ ปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
  • เลือกที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก
  • และมีความถี่ในการปรับพอร์ตค่อนข้างจะรวดเร็วตามสถานการณ์การลงทุนได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ

แล้วการลงทุนกับกองทุน Trigger Fund จะดีทุกกองทุนหรือไม่ ?

โดยในปี 2014 จะมีกองที่ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้และปิดกองทุนทำกำไรไปอยู่ที่ 88.24% สำหรับกองหุ้นในประเทศทั้งหมด และ 80.00% สำหรับกองที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ แต่ในปี 2015 จะมีเพียง 37.50% ของกองทุนที่ลงทุนหุ้นในประเทศ และ 38.03% ของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ปิดกองทุนเมื่อถึงเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น (ที่มา  : Morning Star  ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2559)

โดยจะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลงเช่นกัน สาเหตุส่วนนึงที่ทำให้สัดส่วนของกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ออกในปี 2015 ที่สร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายมีจำนวน น้อยกว่ากองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ออกในปี 2014 เนื่องจากตลาดในประเทศในช่วงปี 2015 เป็นแนวโน้มขาลง ทำให้กองจำนวนมากไม่ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีเท่าที่ควร

พิจารณากองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ลงทุนในประเทศตามตารางด้านบน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจำนวนกองที่ผลตอบแทนถึงมูลค่าที่กำหนด และกองที่ผลตอบแทนยังไม่ถึงมูลค่าที่กำหนด ในแต่ละปี จะเห็นว่ากองทุน
ทริกเกอร์ฟันด์ที่มีทักษะในการเลือก Market timing โดยเลือกออกขายหน่วยลงทุนในจังหวะที่ดัชนีตลาดไม่สูงเกินไป หรือ เรียกว่าเข้าซื้อตอนตลาด bottom out จะสามารถสร้างผลตอบแทนถึงมูลค่าที่กำหนด ในทางตรงกันข้าม การออกขายหน่วยลงทุนในช่วงที่ดัชนีตลาดสูงจะทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึงตามที่กำหนดไว้ (พูดง่าย ๆ ว่า การจับจังหวะในการออกกองทุนประเภทนี้เป็นสิ่งสำคัญมากครับ)

ดังนั้นจึงทำให้เกิดการพัฒนาของกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ในปัจจุบันได้มีการนำกลยุทธ์การลงทุน  Absolute Return ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ขึ้นกับปัจจัยตลาดและเหมาะสมกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูงเช่นนี้ เพราะการลงทุนแบบ Absolute Return นี้มีจุดประสงค์ในการสร้างผลตอบแทนในการลงทุนในทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้น ขาลง หรือ side-way ไม่จำเป็นต้องอาศัยการจับจังหวะการลงทุน Market Timing เป็นส่วนหลัก ๆ แบบที่ผ่านมา

อีกทั้งความเสี่ยงในการลงทุนที่ต่ำลงเนื่องจากมีการใช้ตราสารอนุพันธ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เนื่องมาจากปัจจัยของตลาด ดังนั้นผลตอบแทนจึงไม่ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด โดยเน้นสร้าง positive absolute return ให้แก่นักลงทุน