ยิ่งใกล้ช่วงปลายปีเมื่อไหร่ ตลาดกองทุน LTF/RMF ก็เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับกองทุน LTF เองก็ได้รับการต่ออายุเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับการปรับระยะเวลาการถือครองให้นานขึ้นไปอีก นั่นก็คือจากที่ต้องถือ 5 ปีปฏิทิน กลายมาเป็น 7 ปีปฏิทิน !!

ทำให้ บลจ. ต่าง ๆ กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง ทยอยออกกองทุน LTF ใหม่ ๆ มาอีกเพียบ แต่ละที่ก็งัดเอาจุดเด่นของกองทุนหุ้นปกติที่บริหารอยู่ออกมาแปลงร่างเป็น LTF กัน ซึ่งก็จะมีข้อแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการลงทุนในหุ้นล้วน ออกแนวแบบอัดแน่น จัดเต็ม แน่นอนว่านักลงทุนส่วนใหญ่เองก็จะเลือกลงทุนกับกองทุนหุ้นล้วน LTF กันเป็นเรื่องปกติ

แต่ว่านักลงทุนบางท่านเองอาจจะลืมไปว่า การลงทุนในกองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว ก็จะมีความเสี่ยงที่สูงไปด้วยเช่นเดียวกัน ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า เรามักจะคิดถึงแต่เรื่องลดหย่อนภาษี และเห็นผลตอบแทนระยะยาวของกองทุนหุ้นที่ยั่วยวน จนลืมเรื่องของการกระจายความเสี่ยง หรือลืมเรื่องความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ไป

บางคนลงทุนไปแล้ว 3-5 ปี หันมาดูอีกที โอ้โห มีแต่การลงทุนในกองทุนหุ้นล้วนไปทั้งหมด กองทุนไหนใครว่าดีก็เข้าไปซื้อ รู้ตัวอีกทีก็มีกองทุนหุ้นอยู่เต็มปอด (พอร์ต) จึงไม่แปลกใจเลยที่บางครั้งในภาวะหุ้นลง หลาย ๆ คนจะเกิดอาการที่กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระส่ายกระสับ บางครั้งก็เลิกดูเลิกติดตามการลงทุนไปเลยก็มี (กลับไปตั้งใจลุยงานประจำทันที)

จริงอยู่ที่ว่าการลงทุนระยะยาว ๆ ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นนั้น จะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ และมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี แต่ว่าระหว่างทางที่มีความผันผวนนั้น อาจจะทำให้นักลงทุนทำการขายกองทุนออกไปก่อนเพราะว่าอดทนไม่ไหวนั่นเอง

ทั้งหมดมาจากสาเหตุที่ว่า บางคนไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าตนเองลงทุนกับอะไรอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นกองทุนหุ้น ไม่รู้ว่าเสี่ยงสูง พูดง่าย ๆ ว่า นักลงทุนได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าที่ตนเองรับได้นั่นเองครับ

จากรูปเราจะเห็นได้ว่าการถือหุ้น (S&P500) ผ่านวิกฤตนั้นต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน คือ จากปี 2009 (จุดต่ำสุด) ไปจนถึงปี 2012 หรือใช้เวลาประมาณ 3 – 4 ปี ถ้าเราเราลดระดับของสัดส่วนหุ้นลงเล็กน้อย โดยเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ หรือ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อื่น ๆ เพิ่มเติมก็จะช่วยให้ความผันผวนน้อยลง

การถือครองพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางผ่านช่วงวิกฤตนั้น ก็จะใช้ระยะเวลาที่น้อยกว่า เช่น ถือหุ้น 60 ตราสารหนี้ 40 จะใช้เวลาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดเพียง 1 – 2 ปี เท่านั้นเองครับ และจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนโดยรวมระยะยาวหลังผ่านวิกฤตมาแล้ว (8 ปี) ถึงแม้การถือหุ้นล้วนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนด้วยพอร์ตอื่น ๆ ก็ตาม แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมากครับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเวลาขาดทุนน้อย เวลาที่จะเอาผลตอบแทนคืนมานั้น ทำได้ง่ายกว่า ถ้าหากเราขาดทุนสูง ๆ นั่นเองครับ

ดังนั้นถ้านักลงทุนท่านใดที่รู้ตัวแล้วว่า ไม่อยากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเดียว ผมแนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ด้วยครับ จึงเป็นที่มาเข้าสู่เนื้อหาไฮไลท์ของกองทุนในวันนี้ครับ นั่นก็คือ

กองทุนเปิดอเบอร์ดีนหุ้นระยะยาว 70/30 หรือเรียกสั้น ๆ ABLTF70/30

ถ้าใครคุ้นเคยกับกองทุนของ บลจ. อเบอร์ดีนอยู่แล้ว แค่เห็นก็คงพอจะรู้จักว่าสไตล์การลงทุนของที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง แต่ถ้าท่านไหนที่ยังไม่รู้จัก ตามผมมาครับ ผมจะเล่าให้ฟัง

กองทุนรวมสไตล์ บลจ.อเบอร์ดีนนั้น จะคัดเลือกหุ้นอย่างระมัดระวังโดยอิงจากการวิเคราะห์ของทาง บลจ. เอง เน้นการเลือกหุ้นแบบ bottom – up หรือ สไตล์ VI แท้ ๆ โดยจะทำการเข้าไปศึกษาบริษัทที่น่าลงทุน ดูรายละเอียดงบการเงิน ความสามารถในการแข่งขัน ภาพรวมธุรกิจ และเลือกหุ้นด้วยความมั่นใจว่าจะมีการเติบโตของตัวบริษัท พร้อมกับการทำกำไรที่แข็งแกร่งได้ในระยะยาว พยายามคัดเลือกบริษัทที่หลาย ๆ คนยังไม่เห็นโอกาสการเติบโตในระยะยาว

โดยนโยบายการลงทุนของอเบอร์ดีนนั้นจะยึดหลัก 10 ข้อ หรือ กฎ 10 ประการเพื่อการลงทุนที่ทำให้กองทุนประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ (ลองติดตามได้ที่ http://www.aberdeen-asset.co.th/aam.nsf/tengoldenrulesTH/home)

ส่วนสไตล์การซื้อหุ้น หรือการปรับเปลี่ยนหุ้นเพื่อการลงทุนก็จะเป็นแบบ Buy and Hold คือ เมื่อเลือกหุ้นที่น่าสนใจตามแบบฉบับอเบอร์ดีนเป็นที่เรียบร้อยก็จะถือระยะยาว ไม่ค่อยขายปรับสัดส่วนหุ้นในกองทุนหากไม่จำเป็น หรือ พื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไป (หุ้นบางตัว บลจ. นี้ถือกันเป็น 10 ปีนะครับ) ส่วนผลตอบแทนในระยะยาวของการลงทุนในสไตล์แบบนี้เองก็เรียกได้ว่า “ไม่น้อยหน้าใคร”

ตัวอย่างของผลตอบแทนกองทุน ABLTF ที่ออกมาก่อนหน้านี้

แน่นอนครับ ทาง บลจ. อเบอร์ดีนเองก็มีกองทุนลดหย่อนภาษี หรือ LTF/RMF ที่ค่อนข้างจะหลากหลายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้น ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่อย่าง ABLTF เพื่อเน้นความผันผวนที่ต่ำ เหมาะกับการลงทุนระยะเวลา 5 – 7 ปี กองทุนหุ้นที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เพื่อเพิ่มผลผลตอบแทนให้ดีขึ้นในระยะยาว อย่าง ABSC-RMF หรือ ใครที่จะลงทุนระยะยาว และต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศก็สามารถลงทุนกับ ABAPAC-RMF ได้

ตัวอย่างกองทุน LTF/RMF ของกองทุน Aberdeen