สวัสดีครับ นักลงทุนในกองทุนรวมทุกท่าน วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับกองทุน LTF กองทุนนึงที่ ผมคิดว่าน่าสนใจในแง่ของแนวคิด และกระบวนการการลงทุนครับ แต่ก่อนจะไปรู้จักกองทุนนี้ เรามาดูกันก่อนดีกว่าครับ ว่าทำไมแนวคิด และกระบวนการการลงทุนของกองทุนจึงสำคัญ

แน่นอนว่าการลงทุนกับกองทุนรวมนั้น ถ้าจะให้ดีเราคงต้องเลือกกองทุนที่ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และความผันผวนไม่สูงมากนัก หรือ ไม่สูงจนเรารับไม่ได้ ที่เราต้องดูเรื่องของผลตอบแทนเป็นหลัก ก็เพราะว่ามีหลายงานวิจัยที่บ่งบอกว่า กองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว ๆ เช่น 3ปี และ 5 ปี นั้นส่วนใหญ่ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องไปอีกหลายปี เรามักจะได้ยินหลาย ๆ คนชอบนำไปเปรียบเทียบเสมอ ๆ ว่ากองทุนคล้าย ๆ กับ ถ้าเป็นเด็กที่เรียนดี แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเรียนดีอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ และระยะหลังที่ผมพบเจอมากขึ้นก็คือ ถ้ากองทุนไหนมีแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน และ เป็นแนวทางที่เฉพาะตัวของ บลจ. นั้น ๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะทำให้การบริหารกองทุนดูน่าเชื่อถือ และส่งผลไปยัง ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้นครับ

หลาย ๆ ท่านคงถามว่า แนวคิด และ แนวทางการลงทุนนั้น คืออะไร และเป็นอย่างไรกันแน่ ตามมาครับ ผมจะเล่าให้ฟัง

แนวคิดการลงทุน และ กระบวนการการลงทุนั้น ได้แก่ วิธีการคัดเลือกหุ้น แนวทางการเลือกกลุ่มหุ้นที่จะลงทุน การที่กองทุนกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของกองทุนว่าจะเลือกหุ้นขนาดไหน หรือว่า เน้นการเลือกหุ้นประเภทไหน อุตสาหกรรมไหน สไตล์การปรับสัดส่วนหุ้นในพอร์ต วิธีการจำกัดความเสี่ยงของกองทุนว่าเมื่อไหร่จะขายหุ้นที่ไม่ดีออก รวมถึงการบริหารพอร์ตในภาพรวมว่า หุ้นที่เลือกมานั้น จะลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มสัดส่วนเมื่อไหร่ รวมถึง การเลือกหุ้นแบบ Bottom up ที่เน้นหุ้นจากพื้นฐานของกิจการจริง ๆ หรือว่า เลือกหุ้นแบบ Top-Down ที่เน้นเลือกหุ้นตามเศรษฐกิจโดยรวมก่อนแล้วค่อยมาดูหุ้นที่เหมาะสมในการลงทุนครับ

เช่น กองทุนที่เลือกหุ้นขนาดเล็กขนาดกลาง ส่วนใหญ่ก็จะมีแนวโน้มของผลตอบแทนที่สูงกว่า กองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ แต่ความผันผวนของหุ้นเล็ก ก็จะสูงกว่าไปด้วย หรือการที่กองทุนมีการปรับหุ้นบ่อยครั้ง อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมของกองทุนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรือ บางครั้งกองทุนที่ถือเงินสดเยอะ ดูเหมือนกับว่าจะให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่ากองทุนที่มีหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่า แต่ถ้าหุ้นปรับตัวลดลงมาเยอะกองทุนที่ถือเงินสดอยู่มากกว่าก็จะได้เปรียบทันที

ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมานั้น ถือว่าเป็น ศาสตร์ และ ศิลป์ ของการบริหารกองทุนทั้งสิ้นครับ และผมเชื่อว่า ถ้า บลจ. ไหน มีกระบวนการที่แน่ชัดแล้วละก็ จะทำให้นักลงทุนติดตามผลงานได้ง่าย เข้าใจการลงทุนในกองทุนได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญ มีผลต่อผลตอบแทนอย่างมาก

หลาย ๆ ครั้ง ผมเองก็เคยเห็นกองทุนที่ทำผลงานได้กลาง ๆ หรือบางอยู่ท้าย ๆ ตารางของการจัดอันดับกองทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบริหารงานแบบปรับสัดส่วนให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้น และมีการเพิ่มหุ้นบางตัว หรือ บางกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะ Outperform มากว่าตลาดเข้าไปหน่อย เพื่อเอาชนะผลตอบแทนจากการลงทุนของตลาดหุ้นได้ จึงทำให้กองทุนเหล่านี้ มีภาพการลงทุนที่ไม่ค่อยชัดเจน และผลตอบแทนก็จะอยู่กลาง ๆ นั่นเอง

เมื่อไม่นานมานี้เอง ผมก็เริ่มเห็นหลาย ๆ บลจ. หลาย ๆ กองทุนได้มีการปรับตัวมากขึ้น กำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีความแตกต่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหุ้นเล็กที่มีการเติบโตสูง หรือว่า เลือกหุ้นผันผวนต่ำเข้ามาในพอร์ตมากขึ้น หรือว่าเน้น ธีม การลงทุนที่มองว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต กองทุนแบบ Smart Beta ที่เป็นแบบ ผสมระหว่าง Active + Passive ที่ดูแล้วน่าสนใจมากขึ้น

ที่สำคัญคือ เมื่อกองทุนเหล่านี้มีการปรับพอร์ต หรือแนวการลงทุนที่ชัดเจนนั้น ผลตอบแทนกับดูดีขึ้น บางกองทุนเองก็ปรับตัวจากท้าย หรือ กลางตาราง มีอันดับที่ดีขึ้น หรือว่าบางกองทุนก็ขึ้นไปเป็นอันดับ Top เลยก็มีเช่นกันครับ

เห็นไหมครับว่า กระบวนการลงทุน และแนวคิดการลงทุนที่แตกต่างกันนั้น มีผลต่อการลงทุนอย่างมาก

คราวนี้เรามาดูถึงกองทุนที่น่าสนใจกันวันนี้ครับ เพราะว่าผมเองก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้จัดการกองทุนของกองทุนนี้เหมือนกัน และกองทุนนี้เองก็มีการปรับกลยุทธ์การลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น และมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงนำมาพูดคุยกันในวันนี้ครับ นั่นก็คือ กองทุน SCBLTT นั่นเองครับ

กองทุน SCBLTT มีรายละเอียดดังนี้ครับ

เป็นกองทุนรวมประเภท LTF ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และเป็นกองทุนที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลครับ ส่วนกลยุทธ์การลงทุนที่เขียนไว้ในหนังสือชี้ชวนคือ เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

ซึ่งจะเน้นการลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี มั่นคง และ/หรือ มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตสูง ส่วนที่เหลือจะลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่น หรืออาจจะมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ตราสารแห่งหนี้ และ/หรือเงินฝาก และ/หรือตราสารการเงินอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลาครับ

ดู ๆ แล้วก็น่าจะเหมือนกับกองทุนหุ้นทั่ว ๆ ไปใช่ไหมละครับ แต่ผมขอแอบกระซิบว่า กองทุนนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เช่น จำนวนนักวิเคราะห์ที่เพิ่มมากขึ้น สไตล์การลงทุนที่ชัดเจน และกระบวนการเลือกหุ้นที่น่าสนใจ เอาละผมอธิบายแค่นี้คงไม่เห็นภาพกัน เรามาดูในรายละเอียดกันนะครับ