รู้ไหมครับว่าเรื่องการเงินที่คนให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงนี้ คือเรื่องอะไร? ติ๊กตอก ติ๊กตอก...เฉลยเลยดีกว่า เรื่องนั้น ก็คือ พร้อมเพย์ (PromptPay) บริการรับเงินโอนและโอนเงินแบบใหม่ นั่นเองครับ

“พร้อมเพย์” ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนอย่างเรา ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ทั้งรับและโอนเงินบ่อยๆ แล้วล่ะก็ การสมัครใช้พร้อมเพย์จะได้รับประโยชน์มากกว่าแน่นอน เรามาดูข้อดีของพร้อมเพย์สำหรับผู้รับเงินโอน และผู้โอนเงิน กันดีกว่าครับ

ผู้รับเงินโอนผ่านพร้อมเพย์

ก่อนอื่น ผู้รับเงินโอนจะต้องลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ก่อน ซึ่งก็ไม่ยากเลยครับ เพียงลงทะเบียนโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือผูกกับเลขที่บัญชีที่ต้องการรับเงินโอน ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร เท่านี้ก็เรียบร้อย ซึ่งช่องทางการลงทะเบียนผ่านธนาคารนั้นก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง เว็บไซต์ธนาคาร บัวหลวงเอทีเอ็ม สาขาธนาคาร หรือบัวหลวงโฟน สำหรับใครที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ก็สามารถดูขั้นตอนการลงทะเบียนได้เลยครับ ส่วนใครที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชนไว้แล้ว ก็สบายใจ พร้อม! รับเงินคืนภาษี ปี 59 ผ่านธนาคารกรุงเทพ พร้อมเพย์ ได้เร็ว ง่าย ไม่ต้องรอเช็ค รอเงินเข้าบัญชีได้เลย

ผู้โอนเงินผ่านพร้อมเพย์

สำหรับการใช้บริการโอนเงินระหว่างบุคคลผ่าน พร้อมเพย์(เริ่มประมาณไตรมาส 1 ปี 2560) นั้นก็ไม่ยาก ผู้โอนเงิน
ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนก็สามารถโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้ โอนง่าย ไม่ต้องจำเลขที่บัญชี  เพียงแค่ใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชนของผู้รับเงิน สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เพราะไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่โอน และค่าธรรมเนียมโอนเงินก็ถูกลง ทุกวันนี้ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินต่างธนาคาร/ข้ามเขตนั้น มีตั้งแต่ 25-35 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้พร้อมเพย์แล้วล่ะก็ ค่าธรรมเนียมจะถูกลงมากเลย (หากโอนครั้งละ
ไม่เกิน 5,000 บาท ก็ฟรีทุกรายการเลย) และสำหรับการทำรายการสูงสุด ก็เหลือเพียงแค่ 10 บาทเท่านั้น ตัวอย่างการคิดค่าธรรมเนียมประมาณนี้เลย

เดี๋ยวนี้ช่องทางการโอนเงินก็สะดวกสบาย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของธนาคาร เช่น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบดิจิทัลที่เข้าถึงง่าย ทุกที่ ทุกเวลา และปลอดภัย

วิธีการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ก็ง่ายๆ

1. เลือกช่องทางการโอน หากต้องการโอนเงินผ่านธนาคารกรุงเทพ พร้อมเพย์ ก็จะเป็น 3 ช่องทางนี้ครับ บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง และบัวหลวงเอทีเอ็ม

2. เลือกเมนูเพื่อโอนเงินด้วยพร้อมเพย์ และกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชนของผู้รับเงินที่ลงทะเบียนสมัครใช้บริการพร้อมเพย์แล้ว

3.ตรวจสอบชื่อผู้รับโอนเพื่อยืนยันก่อนโอนเงินทุกครั้ง

ใครชอบและสะดวกโอนเงินผ่านช่องทางไหน ก็เลือกได้ตามใจเลยครับ

ในการโอนเงิน เมื่อกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนแล้ว ผู้โอนจะเห็นหน้าจอแสดงชื่อเจ้าของบัญชีปลายทาง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนการโอนเงิน

กรณีโอนเงินไปผิดเบอร์

ขอให้ผู้โอนเก็บหลักฐานการโอนเงินไว้ แล้วแจ้งธนาคารต้นทางเพื่อทำการตรวจสอบ ธนาคารมีกระบวนการรองรับปัญหาการโอนเงิน โดยใช้กระบวนการเดียวกับที่ใช้แก้ปัญหาการโอนเงินผิดบัญชีในปัจจุบัน

เอาล่ะครับ มาถึงจุดนี้ใครหลายคนคงมีคำถามเรื่องความปลอดภัยของ “พร้อมเพย์” บอกได้เลยครับว่า บริการพร้อมเพย์มีความปลอดภัย มั่นใจในการใช้บริการได้อย่างแน่นอน ในแง่มุมไหน อย่างไรน่ะเหรอ...

  • การลงทะเบียนมีความปลอดภัย เพราะมีการตรวจสอบตัวตนอย่างรัดกุม ระบบลงทะเบียนและฐานจัดเก็บข้อมูลก็มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล ซึ่งกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับบริการโอนเงินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
  • ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ ธนาคารไม่สามารถนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการมาเปิดเผย เพราะมีกฎหมายควบคุม และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ถึงแม้มิจฉาชีพจะรู้เลขประจำตัวประชาชน/เบอร์โทรศัพท์มือถือของเรา ก็ไม่สามารถใช้โอนเงินออกจากบัญชีเราได้ เพราะพร้อมเพย์เป็นเพียงการผูกบัญชีเพื่อใช้รับเงินโอน ส่วนการโอนเงินออกจากบัญชีนั้น ไม่ต่างจากเดิม เช่น โมบายแบงก์กิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ต้องใช้ Username/Password หรือ PIN หากโอนที่เครื่องเอทีเอ็ม ก็ต้องมีบัตรเอทีเอ็ม และรหัสผ่าน เป็นต้น
  • หากโทรศัพท์มือถือหาย ก็ไม่มีผลต่อเงินในบัญชี เพราะพร้อมเพย์เป็นการผูกบัญชีกับเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการรับเงินโอน ดังนั้น หากทำโทรศัพท์มือถือหาย จะไม่มีผลกระทบกับบัญชีที่ผูกไว้ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรแจ้ง Call Center เพื่อระงับการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง
  • หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถหักเงินในบัญชีผ่านพร้อมเพย์ของเราได้  เพราะพร้อมเพย์เป็นบริการขารับเงินโอน การนำเงินออกบัญชีจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัญชีเท่านั้น
  • หากเรามีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือ ควรแจ้งยกเลิกหรืออัพเดทเบอร์โทรศัพท์มือถือกับธนาคารทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง