สวัสดีครับ ในช่วงเวลาใกล้สิ้นปีแบบนี้ ผมเริ่มเห็นนักลงทุนมีการทยอยซื้อ LTF/RMF กันมากขึ้นและคนส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกซื้อ LTF ก่อน RMF เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามองในมุมของการวางแผนทางการเงินที่ดีแล้วไซร้ การเลือกลงทุนด้วย RMF ที่เป็นเครื่องมือในการวางแผนเกษียณนั้น น่าจะเป็นตัวเลือกที่มาก่อน

ดังนั้นวันนี้ครับ ผมหมอนัทแห่งคลินิกกองทุนจะมา เล่าให้ฟังถึงวิธีคิด และวิธีซื้อกองทุน LTF/RMF อย่างถูกต้องให้ฟังกันครับ

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นสักเล็กน้อยว่า จริง ๆ แล้ว เราจะต้องมีเงินเพื่อที่เกษียณอายุ และอยู่ได้อย่างสบายใจนั้น ต้องมีเงินอยู่ที่เท่าไหร่ และต้องเก็บเงินกันจริง ๆ เท่าไหร่ รวมถึงเงินเก็บที่เราโดนหักจากเงินเดือนไปนั้น เพียงพอหรือไม่ครับ เรามาดูไปพร้อม ๆ กันเลยนะครับ

ก่อนอื่นเรามาดูเงินเกษียณกันก่อนว่า เราต้องเท่าไหร่จึงจะพอใช้ยามเกษียณกันครับ

จากงานวิจัยของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องเป้าหมายเงินก้อนขั้นต่ำสำหรับการเกษียณอายุอย่างพอเพียง (โดย ผศ.ดร.อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย และ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นั้นได้ระบุว่า เงินขั้นต่ำที่น่าจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณตอนอายุ 60 นั้นไม่เยอะครับ ประมาณ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้มีเงินใช้หลังเกษียณไป 25 ปี และนำเงินมาทยอยใช้เดือนละประมาณ 15,000 บาท (โดยสมมติว่าหลังเกษียณเก็บเงินไว้ในตราสารหนี้ ผลตอบแทนปีละ 4%)

ทั้งนี้เพราะหลายปัจจัยเช่น เป็นการเก็บตัวเลขจากคนหมู่มาก มีทั้งคนที่อยู่ต่างจังหวัดด้วย และ ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่ใช้เป็นสมมติฐานนั้น มากจากมีการสวัสดิการบัตรทอง และรวมถึงการประเมินมูลค่าเงินตามเวลาที่ใช้อัตราการเสียชีวิตเข้ามาคำนวณด้วย เลยทำให้ตัวเลขออกมาไม่สูงนัก

แต่นี้แค่เป็นเงินที่จะทำให้เราอยู่ได้แบบ พออยู่ได้ แต่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับ ลักษณะการใช้ชีวิตของแต่ละคนครับ

แต่ถ้าจะอยู่แบบสบายขึ้นมาหน่อยละก็ ผมคิดว่าน่าจะต้องมีเงินอยู่ประมาณ 6 ล้านครับ ทำให้มีเงินใช้หลังเกษียณไป 25 ปี และนำเงินมาทยอยใช้เดือนละประมาณ 30,000 บาท (โดยสมมติว่าหลังเกษียณเก็บเงินไว้ในตราสารหนี้ ผลตอบแทนปีละ 4%)

ส่วนท่านไหนที่อยาก กินหรู อยู่สบาย ผมคิดว่าอย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีเงินประมาณ 10 ล้านครับ ทำให้มีเงินใช้หลังเกษียณไป 25 ปี และนำเงินมาทยอยใช้เดือนละประมาณ 50,000 บาท (โดยสมมติว่าหลังเกษียณเก็บเงินไว้ในตราสารหนี้ ผลตอบแทนปีละ 4%)

แต่อย่าลืมนะครับ ว่ามีเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เงิน 50,000 บาทในวันหน้า อาจจะมีค่าไม่มากอย่างที่คิดก็ได้นะครับ ถ้าใช้ชีวิตในเมือง และเราต้องกินอาหารจานละ 300-500 บาท

เห็นไหมครับ ว่าเงินก้อนเกษียณนั้น ถือว่าต้องมีมากพอสมควรเลย ดังนั้นถ้าเราไม่รีบวางแผนเกษียณละก็ เก็บเงินไม่ทันจริง ๆ นะครับ

และแถมจะยังไปเป็นภาระต่อลูกหลาน เพราะว่าท่านทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนั้น รายได้หลังการเกษียณของคนทั่วไปนั้น มาจาก เงินของบุตรหลานถึง 80% เรียกได้ว่า หวังเพิ่งลูกหลานกันอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ บุตรหลานของเราต้องแบกภาระเพิ่มอย่างมาก บางครั้งเงินเกษียณของลูกหลานเองก็อาจจะไม่เพียงพอไปด้วย หรือ จนลงเรื่อย ๆ ทุกรุ่นนั่นเอง แถมรัฐบาลก็ต้องมาดูแล เสียงบประมาณเป็นล้าน ๆ อีกด้วย

ดังนั้นถ้าเราไม่วางแแผนการเก็บเงินเกษียณนั้น เป็นภาระของชาติ และคนรุ่นหลังอย่างมาก ถ้าอยากช่วยชาติละก็ แค่เตรียมเงินเกษียณให้เพียงพอ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้วละครับ

ส่วนจะเก็บเงินอย่างไรให้มีเงินพอใช้นั้นก็ไม่ยากครับ ถ้าต้องเก็บเงิน 3 ล้านบาท เราก็แค่เก็บเงินจากเงินที่ได้เพียงแค่ 10% ของเงินเดือน ขั้นต่ำอยู่ที่ 15,000 บาทเท่านั้นเองครับ หรือ 1,500 บาท ทั้งนี้เงินก้อนนี้ต้องเก็บนอกเหนือจากเงินที่หักประกันสังคม ไปแล้วนะครับ และต้องนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 6% ด้วยครับ จึงจะบรรลุเป้าหมายได้ครับ แต่ถ้าคนที่อายุใกล้จะเกษียณแล้ว ก็คงต้องเก็บมากขึ้น

แต่ถ้าอยากได้มากกว่านี้ละก็ ไม่ยากเลย เนื่องจากเดี๋ยวนี้มีโปรแกรมคำนวณทางการเงินแบบให้ใช้ฟรี ๆ อยู่เยอะมาก ซึ่งใครที่อยากเริ่มเก็บเงินเกษียณก็ลองเข้ามาคิดเงินเกษียณของตนเองได้ที่นี่ครับ http://k-expert.askkbank.com/DIYTools/Pages/K-ExpertRetirement.aspx หรือ http://www.kasikornasset.com/TH/Calculators/Pages/Calculators.aspx

คราวนี้จะได้รู้สักทีครับ ว่าจะต้องเก็บเงินต่อเดือนกันเท่าไหร่กันแน่ และต้องหาผลตอบแทนต่อเดือนเท่าไหร่ จึงบรรลุเป้าหมายได้ครับ

เมื่อเรารู้เงินที่ต้องเก็บต่อเดือนเป็นที่เรียบร้อย คราวนี้เราก็มาเลือกเครื่องมือในการลงทุนเพื่อการเกษียณกัน แน่นอนว่าต้องเป็น กองทุน RMF แน่ ๆ ครับ ทั้งนี้ที่เป็นกองทุน RMF ก็เพราะว่า กองทุน RMF นั้น นอกจากจะช่วยลดภาษีของเราได้แล้ว ก็ยังมีกองทุนให้เลือกหลากหลายความเสี่ยง เลือกได้ตามความชอบ เรียกได้ว่า เสี่ยงต่ำสุด ๆ ไปจนเสี่ยงสูงมากก็มี ซึ่งไม่ได้มีแต่กองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเหมือนกับ LTF ที่ต้องมีสัดส่วนหุ้นอยู่ไม่ต่ำกกว่าร้อยละ 65 ของกองทุน นั่นทำให้กองทุน LTF สามารถปรับความเสี่ยงให้ลดลงได้ยากและจำกัดครับ

ยังไม่พอครับ RMF นั้นมีกองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศก็ได้อีกด้วย ซึ่งด้วยความหลากหลายนี่แหละครับ ที่สามารถนำมาจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณได้อย่างดี หรือ/และ ช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้ตามใจชอบ กองทุนที่น่าสนใจก็ เช่น

  • กองทุน RMF ที่เป็นกองทุนต่างประเทศ เช่น โซนยุโรป และ Healthcare
  • กองทุน RMF หุ้นและหุ้นขนาดเล็ก
  • กองทุน RMF ตราสารหนี้
  • กองทุน RMF แบบ Flexible Fund ที่มีการปรับสัดส่วนตราสารหนี้ และหุ้น ให้นักลงทุนอยู่ตลอดเวลา
  • กองทุน RMF แบบ Asset Allocation ที่มีการปรับสัดส่วนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งจะช่วยให้ความเสี่ยงไม่สูงมากเกินไป