ผมเชื่อว่า สุดยอดคุณสมบัติของหุ้นที่ทุกคนปรารถนาอยากได้มาอยู่ในพอร์ท คือ หุ้นที่เวลาราคาขึ้นจะขึ้นเร็ว แต่เวลาลงปรับตัวลงช้า เชื่อไหมครับว่า มีเทคนิคในการหาหุ้นที่มีลักษณะแบบนี้อยู่จริงครับ บทความนี้ผมจะมาแนะนำวิธีที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้หาหุ้นที่ราคาขึ้นเร็วแต่ลงช้า ลำดับแรกเรามารู้จักความหมายกันก่อนว่า “ขึ้นเร็วลงช้า” มันคืออะไร

ขึ้นเร็ว ลงช้า คืออะไร

มาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า ความหมายของคำว่า “ขึ้นเร็ว” กับ “ลงช้า” ในบทความนี้จะหมายถึง ความเร็วในการขึ้นลงของราคาเชิงสัมพัทธ์ โดยเปรียบเทียบการขึ้นหรือลงของราคาหุ้น  กับ การขึ้นหรือลงของตลาดรวม (ในประเทศไทยตลาดรวมที่เอาไว้ใช้เปรียบเทียบหรืออ้างอิง คือ ดัชนี SET)

หุ้นที่ขึ้นเร็วแต่ลงช้า จึงหมายถึง หุ้นที่เวลาดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น หุ้นตัวนี้ราคาจะเพิ่มขึ้นด้วยเปอร์เซนต์ที่สูงกว่าดัชนี SET แต่ถ้าดัชนี SET ปรับตัวลดลง หุ้นตัวนี้จะปรับตัวลดลงเป็นเปอร์เซนต์ที่น้อยกว่า SET (ไม่ได้หมายความว่าหุ้นตัวนี้ราคาจะขึ้นอย่างเดียวไม่มีลงนะครับ)

มีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกหุ้นที่มีลักษณะแบบนี้ว่า หุ้นที่มีความแข็งแกร่งสัมพัทธ์ (Relative Strength) หรือหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด ส่วนหุ้นที่ราคาขึ้นช้ากว่าตลาดและปรับตัวลดลงเร็วกว่าตลาด ซึ่งเป็นหุ้นที่ไม่มีใครชอบ เราจะเรียกว่าเป็นหุ้นที่มีความอ่อนแอสัมพัทธ์ (Relative Weakness) หรือหุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด

Relative Strength

มีสมมุติฐานในการวิเคราะห์ทางเทคนิคข้อหนึ่งบอกว่า ราคาและปริมาณการซื้อขาย สะท้อนถึงความต้องการซื้อและความต้องการขายของคนในตลาด ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยทุกอย่างที่มากระทบกับหุ้นตัวนั้น ๆ เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหุ้นที่มี relative Strength ราคาขึ้นเร็วกว่าตลาด และราคาปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด  แสดงว่า มีคนอยากซื้อหุ้นตัวนี้มาก (Demand สูง) และ มีคนอยากขายหุ้นตัวนี้น้อย (Supply ต่ำ) นั่นเอง

มีการทดลองเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคจำนวนมาก ที่ได้ข้อสรุปออกมา ว่า หุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาดก็มักจะมีแนวโน้มที่จะคงความแข็งแกร่งนั้นไปเรื่อย ๆ ส่วนหุ้นอ่อนแอกว่าตลาดก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนแออยู่อย่างนั้น จนกว่าจะมีปัจจัยเข้ามากระทบและทำให้ความแข็งแกร่งนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยพฤติกรรมของผู้ซื้อผู้ขายจะแสดงให้เราเห็นเองผ่านราคาที่ซื้อขายกันในตลาดว่าความแข็งแกร่งได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ในสถานการณ์จริงที่พบเห็นได้บ่อยสำหรับนักลงทุนมือใหม่ คือ เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น หลายคนที่ตกรถซื้อหุ้นไม่ทัน มักจะมองหาซื้อหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้น หรือราคาปรับตัวขึ้นช้ากว่าตัวอื่น โดยหวังว่าหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นเหล่านั้นจะขยับขึ้นตามหุ้นที่ราคาขึ้นไปเร็วกว่า แต่ก็มักจะผิดหวัง เพราะหุ้นที่ราคาไม่ยอมขึ้น หรือราคาขึ้นช้ากว่าหุ้นตัวอื่น ๆ เมื่อซื้อไปแล้ว ราคาก็ยังไม่ยอมขึ้นอยู่อย่างนั้น ส่วนหุ้นตัวที่ราคาขึ้นไปเร็วกว่า กลับมีราคาเพิ่มสูงเร็วขึ้นไปอีก 

หรือในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง หลายคนก็มักจะมองหาซื้อหุ้นที่มีราคาปรับตัวลดลงมากกว่าตัวอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาก เวลาที่ตลาดหุ้นเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้น น่าจะปรับตัวขึ้นได้มากกว่าตัวอื่นๆ ซึ่งผลที่ออกมาส่วนใหญ่ หุ้นที่ลงไปเยอะ เวลาตลาดหุ้นเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้น ดันไม่ยอมปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้น หรือปรับตัวขึ้นก็ขึ้นช้ากว่าตลาด ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด เวลาที่ตลาดเริ่มกลับตัว หุ้นเหล่านี้ส่วนมากจะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่า

นักเทคนิคไม่รู้หรอกว่าทำไมหุ้นถึงขึ้นเร็ว และลงช้า แต่รู้ว่ามันต้องมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ทำให้มันมีลักษณะแบบนั้น โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าเหตุผลคืออะไร แต่ลักษณะของหุ้นที่ขึ้นเร็วลงช้า คือ หุ้นที่มีคนอยากซื้อมาก และมีคนอยากขายน้อย นั่นเอง

ผลสรุปของการทดลองเกี่ยวกับ Relative Strength จำนวนมากจึงมีข้อแนะนำว่า  หุ้นที่น่าสนใจซื้อ คือ หุ้นที่แกร่งกว่าตลาด เพราะให้เราซื้อและถือหุ้นที่มีคนอยากซื้อมาก และมีคนขายน้อย และควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด

หมายเหตุ :  Relative Strength ไม่ใช่ RSI หรือ Relative Strength Index ที่เป็น Indicator ตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ Momentum นะครับ เป็นคนละตัวกัน

การทดลองเกี่ยวกับ Relative Strength

ผมได้ทำการทดลองแบบเล่น ๆ โดยเปรียบเทียบมูลค่าของพอร์ท 3 ประเภทระหว่าง

1. พอร์ทที่ซื้อหุ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด

2. พอร์ทที่ซื้อหุ้นอ่อนแอกว่าตลาด

3. พอร์ทที่ถือหุ้นทุกตัวในตลาด (ในการทดลองนี้ ใช้หุ้นในกลุ่ม SET50 เป็นตลาดรวม)  

โดยดูว่าพอร์ททั้ง 3 ประเภทนี้พอร์ทไหนจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน

พอร์ทที่ซื้อหุ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด 10 ตัว

ใช้เงินเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท จะซื้อหุ้นทั้งหมด 10 ตัว จากหุ้นในกลุ่ม SET 50 จำนวน 50 ตัว โดยการซื้อหุ้นตอนต้นเดือน และถือเอาไว้เป็นระยะเวลา 1 เดือน เมื่อถึงสิ้นเดือนจะขายหุ้นทุกตัวในพอร์ทออกไป

พอขึ้นวันแรกของเดือนใหม่ จะซื้อหุ้นเข้ามาใหม่ 10 ตัว โดยดูว่าในเดือนที่แล้วหุ้นตัวไหนที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด (วัดจาก % การเปลี่ยนแปลงของราคา) เรียงตามลำดับ 10 อันดับแรก และถือไว้ 1 เดือน

ทำการซื้อขายหุ้นด้วยวิธีการนี้ซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม 2009 ไปสิ้นสุด เดือนธันวาคม 2014 (ระยะเวลา 6 ปี)

ผลการทดลองเมื่อสิ้นสุดปีที่ 6 พบว่า พอร์ที่ถือหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด 10 ตัว มีมูลค่าของพอร์ทรวมสูงกว่า พอร์ทที่ถือหุ้นทุกต้วใน SET 50

พอร์ทที่ซื้อหุ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด 5 ตัว

ใช้เงินเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท จะซื้อหุ้นทั้งหมด 5 ตัว จากหุ้นในกลุ่ม SET 50 จำนวน 50 ตัว โดยการซื้อหุ้นตอนต้นเดือน และถือเอาไว้เป็นระยะเวลา 1 เดือน เมื่อถึงสิ้นเดือนจะขายหุ้นทุกตัวในพอ&