สวัสดีครับ กลับมาพบอักครั้งกับ ภาษีธุรกิจ 101 คอลัมน์ความรู้คู่ธุรกิจโดยพี่หนอม TAXBugnoms เจ้าเก่าคนเดิม เพิ่มเติมคือบทความใหม่ประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งบทความในตอนนี้ ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องภาษีล้วนๆ แต่ขอมาชวนคิดให้เจ้าของกิจการนึกถึง การบริหารจัดการเงินสดของธุรกิจตัวเองกันดูครับ

 

หลายๆ คนเมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ มักจะนึกถึง "กำไร" เป็นอันดับแรก ขายมันเข้าไปให้เต็มที ขายดีขายได้ ขายสบายขายไม่เคยหยุดหย่อน แต่เอาเข้าจริงแล้วการขายดีมีกำไรที่ว่านี้ มันบอกเราหรือเปล่าว่า กิจการของเราไปได้ดีจริงๆ

 

สมมุติว่า เราเปิดธุรกิจขายของแบบซื้อมาขายไป ซื้อสินค้ามาขาย 100 ชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 150 บาท โดยที่เราสามารถเอามาขายได้ชิ้นละ 500 บาท ถ้าหากขายสินค้าที่ซื้อมาได้หมด เราจะได้เงินมาจำนวน 50,000 บาท

 

ถ้าหากผมถามต่อไปว่า แล้วกำไรทั้งหมดที่เราได้รับนั้นคือเท่าไร หลายคนก็คงตอบได้ง่ายๆว่า มันคือ 35,000 บาท (50,000 - 15,000) ใช่ไหมครับ

 

อืมมมม ฟังดูแล้วก็ดีนะ ... หลังจากที่ได้เงินกำไรมา 35,000 บาท เราก็เอาไปซื้อสินค้าเพิ่ม เพื่อกลับมาขายต่อ วนไปเวียนไปแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นนี่นา ใช่แล้วครับ!! ถ้าหากทั้งหมดนี้เป็นการขายและซื้อด้วยเงินสดทั้งหมด มันก็จบแค่นี้ เงินในกระเป๋ามีเท่าไรจ่ายไปตามสบายง่ายๆแฮปปี้ฟรีดอมไม่ต้องคิดซ่อมให้เหนื่อยใจ

 

ดังนั้น.. สิ่งที่หลายๆคนคิดเมื่อกิจการไปได้ดี ขายได้ และมีกำไรแล้ว สิ่งต่อมาที่เราต้องใส่ใจ คือ เรื่องของการประหยัดภาษี แต่ความเป็นจริงแล้ว ภาษีนั้นถือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะองค์ประกอบทีสำคัญกว่านั้น คือ “เงินสด”

 

จากตัวอย่างเมื่อตะกี้ เราลองมองกลับมาดูในโลกแห่งความจริงกันที่มีการซื้อขายแบบมี “เครดิต” หรือ “เงินเชื่อ” ดูบ้าง ว่าถ้าหากเป็นแบบนั้นโลกจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง เรามาดูกันต่อครับ

 

สมมุติวันที่ 1 มีนาคม 2559 เราซื้อสินค้ามาขาย 100 ชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 150 บาท โดยมีกำหนดจ่ายเงินวันที่ 15 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นเราก็เอาสินค้ามาขายชิ้นละ 500 บาท โดยมีทั้งการขายเงินสดและให้เครดิต ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1-15 นั้นเราสามารถขายสินค้าได้หมดเลย 100 ชิ้น แต่เก็บเป็นเงินสดได้เพียงแค่ 10 ชิ้น คือ 5,000 บาท ส่วนที่เหลือจะเก็บเงินได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป

 

นั่นแปลว่า พอถึงวันที่ 15 ที่เราต้องจ่ายเงินนั้น เราจะมีเงินสดในมืออยู่แค่ 5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่พอที่จะจ่ายชำระหนี้จำนวน 15,000 บาทได้ เพราะยังขาดไปอีก 10,000 บาท!!!

 

แล้วถ้าหากเราไม่มีเงินสำรองสำหรับการใช้ในธุรกิจขึ้นมา แบบนี้ก็ต้องไปหาแหล่งเงินต่างๆ ซึ่งอาจจะมาจากการกู้ยืมจนต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม หรือถ้าจ่ายไม่ทันเราก็จะเสียเครดิตในการซื้อสินค้าไปอีก ซึ่งตรงนี้ต่อให้ขายดียังไงก็ตาม แต่ถ้าหากเก็บเงินไม่ได้ หรือจ่ายเงินไม่ทัน มันก็หมดประโยชน์ทันทีครับ!!!

 

จากตัวอย่างที่ยกมาให้ดู คือ ตัวอย่างง่ายๆเท่านั้นนะครับ เพราะยังไม่รวมเรื่องของการคำนวณต้นทุนต่างๆที่เกิดขึ้นในการขาย ไปจนถึงเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เราต้องจ่าย (ค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำเนินกิจการ ฯลฯ) ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะแนะนำในการธุรกิจนั้น ไม่ใช่การประหยัดภาษี แต่เป็น เงินสำรองในการทำธุรกิจต่างหากครับ

 

โดยจำนวนเงินสำรองที่ว่านี้ ไม่มีหลักการพิจารณาตายตัวแต่อย่างใดครับ ผมแนะนำเพียงหลักการเดียว คือ เราต้องรู้ก่อนว่า เราต้องใช้ค่าใช้จ่ายคงที่ในแต่ละเดือนเท่าไร และมีหนี้เท่าไรที่ต้องจ่าย และตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องมีเพื่อสำรองให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้ครับ

 

สุดท้ายนี้สิ่งที่ผมอยากจะฝากให้ธุรกิจทุกๆธุรกิจให้ความสนใจนั้น ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของภาษีเพียงอย่างเดียวครับ (ลองอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ ทำไมธุรกิจขาดทุนถึงยังต้องเสียภาษี นี่คือเหตุผลที่คุณต้องอึ้ง!! และ 5 ข้อผิดพลาด!! ถ้าหากคุณไม่ใส่ใจบัญชีของธุรกิจ ) ดังนั้นผมขอฝากไว้เลยครับว่า หากรักจะทำธุรกิจแล้วล่ะก็ กระแสเงินสด หรือ เงินสำรองเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจไม่แพ้กันเลยล่ะคร้าบบ

 

ภาษีธุรกิจ info