สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ ภาษีธุรกิจ101 คอลัมน์เก่า คอลัมน์เดิมเพิ่มเติมด้วยพรี่หนอม TAXBugnoms แห่ง Aommoney สำหรับบทความในวันนี้จะเป็นเรื่องของรายจ่าย “คงที่” ที่ธุรกิจมักจะมีปัญหาอย่าง “ค่าใช้จ่ายบัญชี” ที่มีตั้งแต่ ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าจัดการเอกสาร ค่าไปพบพี่ๆสรรพากร ค่าที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายจิปาถะทั้งหลายครับ

 

หากมองทางด้านผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ ผมมักจะได้ยินว่าส่วนใหญ่ไม่อยากจะจ่ายแพงสักเท่าไร เพราะมองว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นกับกิจการสักเท่าไร #เราสามารถจ้างใครมาทำบัญชีก็ได้ ซึ่งผมเองก็เคยเขียนบทความปรับทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่บทความเรื่อง 5 ข้อผิดพลาด!! ถ้าหากคุณไม่ใส่ใจบัญชีของธุรกิจ ไว้ให้อ่านกันแล้วครับ

 

แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธนะครับว่า ค่าใช้จ่ายด้านบัญชี นั้น ถือว่าเป็นต้นทุนแฝงในการทำธุรกิจของเรา ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของธุรกิจที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลต้องรับผิดชอบ ทั้งการทำบัญชี สอบบัญชี นำส่งภาษี ไปจนถึงจัดการด้านเอกสารต่างๆ และถ้าเอาสะดวกไม่ต้องจัดการก็คือ “จ้าง” คนอื่นมาทำหน้าที่แทน

 

ทีนี้ถ้าเราหันมามองทางฝ่าย “คนทำบัญชี” กันบ้าง เราก็จะเห็นว่า “ความรับผิดชอบ” และหน้าที่นั้นมันช่างแสนจะยิ่งใหญ่ ตั้งแต่จัดการเอกสารไปจนถึงจัดการด้านบัญชีและภาษี แถมยังมีการตบตีกับพี่ๆสรรพากร เป็นระยะๆ เพื่อแลกกับค่าจ้างที่ได้รับมา เฮ้อออ พูดแล้วเหนื่อยกันมากๆเลยล่ะครับ

 

ซึ่งลักษณะงานบัญชีนั้น ถือเป็น งานบริการ ครับ ซึ่งการให้บริการของแต่ละคนนั้นก็มีต้นทุนและความพึงพอใจไม่เท่ากัน หากเป็นฝั่งคนจ้างก็ไม่อยากจะจ่ายแพง ส่วนฝ่ายคนทำงานก็อยากจะได้ค่าจ้างที่คุ้มค่าแรงที่ลงมือไปใช่ไหมล่ะครับ

 

แล้วจุดตรงกลางมันอยู่ตรงไหน!!! #ทำไมต้องตัวใหญ่ขนาดนี้ #ตื่นๆมีเรื่องแล้ว

 

คำตอบที่มีให้นั้น ผมบอกสั้นๆเลยครับว่า “ไม่มี” เพราะมันอยู่ที่ความพอใจในการว่าจ้างของแต่ละงาน แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจทุกคนควรทำนั้น ไม่ใช่การจ่ายเงินเพื่อจ้าง “คนทำบัญชี” ที่ถูกที่สุด แต่ให้จ้างคนทำบัญชีที่ราคา “เหมาะสม” ที่สุดต่างหากครับ

 

โดยราคาที่เหมาะสมนั้น อยู่ที่ไหน ? ผมคงต้องขอให้ย้อนมามองที่ ปัจจัยหลัก ที่มีผลกับค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีมากที่สุด ซึ่งก็คือ “ความเข้าใจด้านบัญชีและภาษีของเจ้าของธุรกิจ” ยิ่งเจ้าของธุรกิจมีความเข้าใจเรื่องนี้มากเท่าไร “ค่าใช้จ่ายยิ่งต่ำลงเท่านั้น” เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาดูกันว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลงได้ยังไงบ้าง ผมขอแนะนำไว้ 3 วิธีละกันครับ

 

1. จัดการงานด้านเอกสารและเข้าใจหลักฐานด้านภาษี ข้อแรก คือ ต้นทุนในการจัดการเอกสารต่างๆ ทั้งการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ การจัดการให้ครบตามที่บัญชีต้องการในแต่ละเดือน เพื่อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อต้องให้ทางฝ่ายบัญชีมารับภาระมากมายครับ

อีกเรื่องหนึ่งคือการเข้าใจเอกสารด้านภาษี รู้ว่ารายการต่างๆต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายแบบไหนที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ซึ่งตรงนี้จะประหยัดเวลาของบัญชีไปได้เยอะเช่นเดียวกันครับ

 

2. จัดทำรายงานและนำส่งภาษีต่างๆด้วยตัวเอง หากเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีที่ดีแล้ว เราจะพบว่ารายการหลักๆที่เราต้องรู้มีอยู่ 2 เรื่อง คือ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ การหักภาษี ณ ที่จ่าย (สำหรับการจ่ายเงินที่กฎหมายกำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้) ซึ่งหากมีโอกาสผมจะเขียนเรื่องนี้ให้ติดตามในภายหลังนะครับ ยังไงก็กด Like เพจ TAXBugnoms ไว้ จะได้ไม่พลาดการติดต่อกันครับ

 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเรานั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เราก็ต้องมีหน้าที่จัดเก็บใบกำกับภาษีซื้อ-ขาย และจัดทำรายงานภาษีซื้อ-ขาย ไปจนถึงรายงานสินค้าและวัตถุดิบ (หากเป็นการขายสินค้าหรือผลิต) พร้อมทั้งรวบรวมยอดภาษีซื้อและภาษีขายมาคำนวณเพื่อยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (หมายเหตุ : ถ้าตรงนี้อ่านแล้วยังไม่เข้าใจโปรดเข้าใจเลยครับว่านี่แหละหน้าที่ของคนทำบัญชีซึ่งมีต้นทุนเรื่องพวกนี้ที่ต้องจัดการให้เราครับ)

 

3. อำนวยความสะดวกอื่นๆตามที่บัญชีต้องการ สำหรับผู้ทำบัญชีที่ดี ย่อมต้องการเอกสารประกอบต่างๆเพิ่มเติมตามแต่ละประเภทของธุรกิจ เพื่อใช้ในการบันทึกบัญชี เช่น ธุรกิจบริการอาจจะต้องการเอกสารคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายออกเป็นแต่ละโครงการ (Project) หรือธุรกิจผลิตอาจจะต้องการข้อมูลการผลิต (BOM) หรือรายละเอียดของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต ซึ่งตรงนี้ทางเจ้าของธุรกิจอาจจะต้องพูดคุยกับทางบัญชีเพื่อตกลงความเข้าใจให้ตรงกันครับว่าจะช่วยอะไรกันและกันได้บ้าง

 

ผมเชื่อนะครับว่า ถ้าหากธุรกิจไหนสามารถทำได้ทั้ง 3 ข้อนี้ รับรองว่าค่าทำบัญชี หรือ ค่าจ้างสำนักงานบัญชี หรือผู้ทำบัญชีอิสระลดลงเป็นจำนวนมาก เพราะเรื่องต่างๆที่ยุ่งยากเหล่านี้คือต้นทุนในการทำงานของบัญชี ถ้าหากธุรกิจทำมาเรียบร้อย บัญชีก็ลงรายการได้อย่างสบายใจไร้ปัญหา หมดทั้งปัญหากับบัญชี และยิ่งดีไปกว่านั้นคือหมดปัญหากับทางสรรพากรด้วยครับ

 

อย่างที่บอกแหละครับว่า หลายๆคนมักไม่สนใจเรื่องการจัดการด้านบัญชี ไม่สนเรื่องการเรียนรู้ภาษีสำหรับธุรกิจของตัวเอง แต่สิ่งที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงด้านภาษีของธุรกิจได้ดีที่สุดนั้น มันคือความรู้ของเจ้าของธุรกิจ นั่นแหละครับ รู้ให้กว้าง รู้ให้มาก เพื่อที่จะได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับธุรกิจของเราครับ

 

สุดท้ายแล้ว บทความนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อที่ต้องการจะบอกว่า รายจ่ายทางบัญชีของทุกๆธุรกิจนั้น มีต้นทุนในการทำงานอยู่ครับ ดังนั้นหากต้อง