สวัสดีครับ กลับมาพบกับพรี่หนอม TAXBugnoms กับ ภาษีธุรกิจ101 คอลัมน์ประจำ Aommoney กันอีกครั้งครับ สำหรับวันนี้เราจะมาพูดคุยกันอีกหนึ่ง เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และมักจะกลายเป็นปัญหาชีวิตของเจ้าของกิจการ นั่นคือ เรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั่นเองครับ

 

ถ้าใครติดตามบทความเก่าๆของผม อาจจะเคยผ่านตาบทความเรื่องนี้มาหลายครั้ง ทั้งใน “บล็อกภาษีข้างถนน” และ “Aommoney.com” แต่ส่วนใหญ่แล้วผมมักจะเขียนในส่วนของ “ผู้ที่มีเงินได้” มากกว่า “ผู้จ่ายเงิน” ครับ ฮั่นแน่!! อ่านแล้วเริ่มสงสัยใช่ไหมครับว่ามันแตกต่างกันยังไง ไม่เป็นไรครับ เรามาทวนความจำกันสักหน่อยดีกว่าครับ

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ อะไร ?

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่กฎหมายกำหนดให้ “ผู้จ่ายเงิน” ต้องหักไว้จากเงินได้ก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่ “ผู้รับเงิน” และถือเป็น "เครดิตภาษี" ของผู้รับเงิน (ผู้มีรายได้) ในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยจะมีหลักฐานที่เรียกว่า "หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย" ที่ผู้จ่ายเงินมอบให้แก่ผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐาน


WT

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กับการเสียภาษี

สมมุติว่า นายบักหนอม มีรายได้ที่ต้องเสียทั้งหมดในปี จำนวน 15,000 บาท แต่เรามีภาษีหัก ณ ที่่จ่ายที่ถูกหักไว้แล้วระหว่างจำนวน 10,000 บาท แปลว่าในปีนั้นเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมแค่เพียง 15,000 - 10,000 = 5,000 บาทเท่านั้นเอง (10,000 บาทที่ถูกหักไว้ นำไปเครดิตออกจากภาษีที่ต้องชำระตอนปลายปี)

 

 

 

แต่สำหรับบทความของภาษีธุรกิจในวันนี้ ผมมีเรื่องราวอีกมุมหนึ่งสำหรับเจ้าของกิจการ หรือ “ผู้ที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งมีหน้าที่ หักภาษีไว้ และ นำส่งภาษี แก่พี่ๆ สรรพากร ซึ่งถ้าหากไม่นำส่งแล้ว จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วยนะครับ

 

ทีนี้เมื่อรู้ว่ามีหน้าที่ทีต้องหักและนำส่งภาษีไว้แล้ว คำถามต่อมาก็คงจะเป็นว่า แล้วจะหักและนำส่งยังไงดี จะรู้ได้ไงว่าค่าใช้จ่ายไอ้นี่ต้องหัก ค่าใช้จ่ายไอ้นั่นไม่ต้องหัก หักเสร็จแล้วต้องไปไหน แบกเงินไปให้พี่สรรพากรเลยไหม หรือจะยังไงกับชีวิตต่อไป โว๊ะ!! คิดแล้วปวดหัว … มาครับ วันนี้จะอธิบายให้สั้นๆง่ายๆแบบใช้ได้จริงในสไตล์ #TAXBugnoms ครับ

ผมให้ขั้นตอนพิจารณาสั้นๆง่ายตามนี้ครับ...

1. คนจ่ายเป็นใคร ระหว่าง “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล”
2. ผู้รับเงินเป็นใคร ระหว่าง “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล”
3. เงินที่เราจ่ายไปนั้น คือ เงินได้ประเภทไหนตามกฎหมาย (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ เข้าใจเงินได้ 8 ประเภทใน 2 นาที)
4. กฎหมายกำหนดให้ต้องหักภาษีหรือไม่

 

สำหรับข้อมูลของกฎหมายนั้น เราสามารถหาดูได้ง่ายๆจากรายละเอียดในเวปไซด์สรรพากรเลยครับ ซึ่งวิธีการดูนั้นคือ เราจะเริ่มจากดูตาม 1-4 และเปรียบเทียบดูว่ากฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราเท่าไรครับ

 

WT2

 

เมื่อหักเสร็จแล้ว ให้นำส่งพี่ๆสรรพากร ซึ่งโดยปกติจะใช้แบบแสดงรายการประเภทต่างๆ ตามประเภทของเงินได้ครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมี 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ แบบ ภ.ง.ด. 1 ภ.ง.ด. 3 และ ภ.ง.ด. 53 นั่นเองครับ

 

เห็นไหมครับว่า ถ้าเราเข้าใจเพียง 4 ข้อนี้พร้อมกับนำส่งภาษีได้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เรื่องของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้นกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่มีปัญหาและทำให้ไม่ต้องมีปัญหาย้อนหลังกับพี่ๆสรรพากรอีกด้วยครับ แต่สำหรับตอนนี้คงต้องพักไว้เท่านี้ก่อนครับ ไว้ในตอนต่อไปผมจะมาอธิบายวิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายพร้อมยกตัวอย่างโดยละเอียดให้ฟังอีกครั้งหนึ่งครับ

 

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆพีๆน้องๆ ที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้องกันทุกคน และไม่มีปัญหาใดๆกับทางสรรพากรนะคร้าบ

 

losttax-01 (1)