ในปี 2016 สตีฟ แอดค็อก (Steve Adcock) วัย 35 ปี ได้เดินทางมาถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงินที่ตั้งใจเอาไว้ด้วยเงินเก็บราว ๆ 35 ล้านบาท เขาเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปและก็ทำงานหาเงินเป็นพนักงานประจำเหมือนคนปกติทั่วไปนี่แหละ

เขาเขียนเล่าไว้ในบทความบนเว็บไซต์ CNBC ว่า “ปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จไม่ได้มาจากคำแนะนำที่ผมได้รับ แต่เป็นคำแนะนำที่ผมไม่เชื่อต่างหาก ผมสร้างความมั่งคั่งในแบบเดิม ๆ ทำงานหนัก 9 โมง - 5 โมง และวางแผนการเงินที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เห็นด้วย”

นี่คือหลักคิดการเงินที่เป็นเรื่องจริงแต่ไม่ค่อยมีใครอยากเชื่อ 7 ข้อที่แอดค็อกบอกว่าทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีและเกษียณได้ในวัย 35 ปี เท่านั้น

1. ความซื่อสัตย์ต่อบริษัททำให้คุณจน

ถ้าคุณไม่เปลี่ยนงานบ้างตลอดเส้นทางอาชีพ นั่นหมายความว่าคุณกำลังเสียโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว การรับตำแหน่งใหม่ในบริษัทอื่นคือวิธีสร้างรายได้ที่กระโดดขึ้นอย่างมาก แอดค็อกกล่าวว่า

“ผมเปลี่ยนงานห้าครั้งตลอด 14 ปีของการทำงาน และได้รับเงินเดือนเพิ่ม 15-20% ทุกครั้งที่เปลี่ยนงาน มันทำให้เงินเดือนผมขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างมาก”

เมื่อบริษัททำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท พนักงานก็ควรทำแบบเดียวกัน

2. เศรษฐีเงินล้านส่วนใหญ่ร่ำรวยด้วยตนเอง

รายงานจากศูนย์วิจัย Ramsey Solutions พบว่า 74% ของชาว Gen Y เชื่อว่าเศรษฐีเงินล้านนั้นมาจากการรับมรดกจากรุ่นก่อน และมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มบูมเมอร์ก็คิดแบบเดียวกัน

แต่ที่จริงแล้วแอดค็อกบอกว่า “คนที่เป็นเศรษฐีเงินล้านหลายคนที่ผมรู้จักนั้นสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาด้วยตัวเอง และการรู้แบบนั้นทำให้รู้สึกมีกำลังใจด้านการเงินให้กับตัวเองด้วย”

จากการเก็บข้อมูลเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 1 ล้านเหรียญ (35 ล้านบาท) มากกว่า 10,000 คนนั้นพบว่า 79% นั่นไม่ได้รับมรดกตกทอดอะไร ส่วนใหญ่มาจากก็สร้างความมั่งคั่งจาก “การลงทุนที่สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงหนี้ และการใช้จ่ายเงินที่ฉลาดๆ” ทั้งสิ้น

3. คู่ครองสามารถสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายการเงินของคุณได้

แอดค็อกเล่าว่า “เพื่อนของผมหลายคนแต่งงานเร็ว ตั้งแต่ช่วง 20 ต้น ๆ กลาง ๆ แล้วตอนนี้ ประเด็นใหญ่ของความตึงเครียดในความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นนิสัยเกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายที่แตกต่างกันหรือการที่ไม่ยอมพูดคุยกันเรื่องการเงิน”

สำหรับคนส่วนใหญ่ เรื่องการเงินนั้นเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนและส่วนตัวเป็นอย่างมาก มักจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องนี้กับคนอื่น หรือแม้แต่คู่ครองด้วยกันเองบางทีก็ไม่ยอมคุยด้วย อาจจะเพราะตัวเองรู้ว่ามีนิสัยทางการเงินที่ไม่ดี ซื้อของฟุ่มเฟือย หรือบางทีเป้าหมายทางการเงินไม่เหมือนกันด้วย

คำแนะนำของแอดค็อกคือ “รอจนกว่าจะเจอคนที่มีแนวคิดเรื่องการเงินที่เหมือนกัน นั่นคือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต”

การเข้าใจว่าคู่ครองของเรามองเรื่องการเงินแบบไหน อะไรที่เป็นเป้าหมายของแต่ละคน มีอะไรที่จะช่วยเหลือกันได้ไหม คุณค่าของเงินหรือความมั่งคั่งในชีวิตคู่เป็นยังไง? แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่อยากพูด แต่เป็นเรื่องที่จำเป็น

4. คุณไม่จำเป็นจะต้องยุ่ง วุ่นทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

เราอาจจะรู้สึกว่าถ้าอยากรวยก็ต้องทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดเพื่อจะได้รวยให้เร็วมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าคุณจะมีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีเงินมากขนาดไหน ถ้าเจ็บป่วยมาทีมันก็แทบไม่มีประโยชน์เลยในการไปเอาเงินที่หามาอย่างยากลำบากไปรักษาตัวเองจนหมด

เพราะฉะนั้นแบ่งเวลามาดูแลเรื่องสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไปพร้อมกับการสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วย

ให้จัดอันดับความสำคัญเรื่องการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญคือต้องหยุดพักผ่อนบ้างเพื่อเติมพลังให้กับตัวเองเพื่อจะได้กลับมาทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น

ถ้าสุขภาพไม่ดี เข้าออกโรงพยาบาลเป็นร้านสะดวกซื้อ เงินที่หามาเท่าไหร่ก็ไม่พอครับ

5. ครอบครัวยากจนไม่ได้หมายความว่าคุณจะสร้างความมั่งคั่งไม่ได้

“ผมมาจากครอบครัวรายได้ต่ำ คุณปู่เป็นศาสนาจารย์และแทบจะเรียกว่าไม่มีเงินเลยเพราะไม่มีความรู้เรื่องการบริหารเงิน” แอดค็อกกล่าว

ซึ่งต่อมาคุณพ่อของเขาก็รับเอานิสัยเรื่องการเงินพวกนี้มาด้วย หาเงินมาได้ก็ใช้ แทบจะไม่เหลือเก็บ เดือนชนเดือนตลอด โชคดีที่ภายหลังคุณพ่อเริ่มเปลี่ยนนิสัยการเงินและพอจะเริ่มเก็บเงินได้บ้างในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ก็มีไม่ได้มากอะไร

สิ่งสำคัญคือแอดค็อกได้รับบทเรียนเกี่ยวกับการเงินมาจากพ่อเรื่องการเก็บเงิน การลงทุน และรู้ว่าหนี้บัตรเครดิตที่จะทำให้ความมั่นคงทางการเงินในชีวิตนั้นล้มได้เลย แอด็อกกล่าวว่า

“แม้เงินเดือนคุณไม่ได้มหาศาล คุณก็มีโอกาสที่รวยได้”

6. ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ได้การันตีความมั่งคั่งในชีวิต

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญและใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยนั้นจะช่วย ‘เพิ่มโอกาส’ ในการได้เข้าทำงานในบริษัทที่คุณตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีปลายทางว่าคุณจะมีความมั่งคั่งในชีวิต

แอดค็อกเล่าว่า “ผมไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ผมก็เก็บเงินฉุกเฉินและลงทุนอย่างน้อย ๆ 10% ของรายได้ตั้งแต่เริ่มทำงาน ผ่านมาหลายปีมันช่วยทำให้ผมสามารถเกษียณและมีชีวิตที่ค่อนข้างสบายเลย”

โดยเขาแนะนำว่าควรหามหาวิทยาลัยที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักและมีสาขาที่เราสนใจอยากเรียนจริง ๆ ดีกว่า

7. แพสชันใช้จ่ายใบแจ้งหนี้ไม่ได้

เราได้ยินมาเสมอว่าให้ทำตามแพสชัน (passion) สิ่งที่คุณหลงใหลแล้วคุณจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่นั้นก็อาจจะไม่จริงเสมอไปสำหรับทุกคน แอดค็อกกล่าวว่า

“มันง่ายกว่าสำหรับเราในการใช้ทักษะที่เชี่ยวชาญในการหารายได้มากกว่าแพสชัน แพสชันของเราส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และปกติแล้วมันก็ยากกว่าที่จะได้เงินเดือนสูง ๆ ในตลาดที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์”

งานอดิเรกของเขาคือการถ่ายภาพ แต่ก็เลือกที่จะทำงานในสายพัฒนาโปรแกรมเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาทำได้และทำได้ดี ซึ่งเงินเดือนระหว่างสองอาชีพนี้แตกต่างกันอย่างมาก “ตอนนี้ในฐานะคนที่เกษียณแล้ว ผมก็มีความสุขและสามารถใช้เวลากับแพสชันมากขึ้นด้วย” เขากล่าวปิดท้าย

แพสชันคือความสุข แต่อย่าลืมว่าใบแจ้งหนี้จะเอาความสุขไปจ่ายก็ไม่ได้ สร้างช่องทางหาเงินที่มั่นคงให้ได้ แพสชันเป็นเรื่องที่ดี ทำเป็นงานอดิเรกไปก่อนในระหว่างที่กำลังสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิต