หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันเงินเดือนเข้าบัญชีเพื่อใช้จ่าย เฮอา ปาร์ตี้ ใช้หนี้จนหมดอย่างเร็ว เดือนชนเดือนประจำ...นิสัยการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนี้ถือได้ว่าเป็นนิสัยการเงินที่ไม่ดี เพราะมันแสดงถึงการใช้จ่ายมากกว่าเงินที่หามาได้ แบบนี้ต่อให้คุณมีรายได้สูงแค่ไหน ก็ไม่พอใช้ ไม่เหลือเก็บออม จนสุดท้ายไปจบลงที่ "เงินหาย" กลายเป็นหนี้ก็เป็นได้ มาดู 4 วิธีผลาญเงินเดือนแบบง่าย ๆ

1. shopping ซื้อของตามกระแส

เป็นธรรมดาที่พอเห็นของใหม่ สวยงาม ก็จะเกิดความอยากได้ อยากมีบ้าง หรือพอจะไปปาร์ตี้สังสรรค์กับที่ทำงาน ก็ต้องมีเสื้อผ้าเข้ากับตีม ยังไม่รวมเสื้อผ้ารองเท้าตามเทรนด์ที่ต้องใส่มาโชว์กันในที่ทำงานหรือขิงเล็กน้อยบนโลกโซเชียล เรื่องนี้เลยจบลงที่การซื้อหมดทุกอย่างที่ขวางหน้า การใช้จ่ายอย่างไม่คิดให้รอบคอบแบบนี้ทำให้จนลงเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัว

ลองลดรอบงานปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ลงบ้าง, ลองนำเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้นำกลับมาใส่ใหม่ เอามามิกซ์แอนด์แมทช์ก็จะทำให้เหมือนได้ใส่เสื้อผ้าใหม่ ไม่เบื่อแถมไม่เปลืองตังค์ด้วย ส่งผลดีต่อเงินในกระเป๋า

รวมถึงเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร ก่อนไปซื้อวัตถุดิบทำอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีวัตถุดิบอะไรเหลืออยู่หรือหมดแล้วบ้างเพื่อวางแผนซื้อของให้พอเพียงไม่เหลือทิ้ง, ค่าเครื่องสำอางก็ไม่ควรซื้อของใหม่โดยที่ยังใช้ของเก่าไม่หมดและวางแผนใช้ให้ทันวันหมดอายุ เป็นต้น

2. ติดกาแฟ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่

มนุษย์เงินเดือนกับของฟุ่มเฟือยอาจจะหลีกหนีกันไม่พ้น ทั้งกาแฟ บุหรี่ ปาร์ตี้ดื่มเที่ยว ตัวอย่างที่ใกล้ตัวสุด ๆ คือ ค่ากาแฟ ถ้าดื่มกาแฟทุกวันแก้วละ 60 บาท ทำงานเดือนละ 20 วัน เท่ากับว่าคุณต้องจ่ายเงินค่ากาแฟ 1,200 บาท/เดือน แต่หากลองเปลี่ยนมาดื่มแก้วละ 30 บาท จะช่วยให้ประหยัดขึ้นได้ 600 บาท/เดือน เป็นต้น แนะนำว่าลองดูตามสถานการณ์ ค่อย ๆ ลด หรือเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อยก็ได้ เช่น อาจจะไม่จำเป็นต้องดื่มของแพงทุกวัน หรือเลือกสลับดื่มร้านแพงกับร้านราคาต่ำลงคละกันไป

ส่วนค่าเหล้าและบุหรี่รายวัน บุหรี่ที่ปัจจุบันราคาขึ้นไปเป็นซองละเกือบ 100 บาทแล้ว ลองคิดคร่าว ๆ ว่าสูบวันครึ่งละ 1 ซอง จะมีค่าใช้จ่าย 1,500 บาท/เดือน, ค่าเหล้า 500/สัปดาห์ จะมีค่าใช้จ่าย 2,000 บาท/เดือน ซึ่งอาจดูเป็นเงินที่ไม่ได้เยอะสำหรับบางคน แต่ลองคิดเป็นปีจะเป็นเงินก้อนหลายหมื่นเลยทีเดียว ดังนั้น หากลดปริมาณหรือเลิกได้ก็จะดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพกระเป๋าตังค์ครับ

3. หวังรวยหวย

ความมหัศจรรย์ของหวย คือ ความลุ้น ความเสี่ยง เหมือนโบนัสก้อนใหญ่ที่ได้มาง่าย ๆ มากองอยู่ตรงหน้า แต่เมื่อเทียบความน่าจะเป็นแล้วโอกาสที่จะถูกรางวัลมันน้อยมาก (กรณีที่คุณซื้อหวย 1 ใบ โอกาสที่จะถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 3 ล้านบาท มีเพียง 0.0001% เท่านั้น!! ส่วนโอกาสที่จะถูกรางวัลเลขหน้า 3 ตัว มีเพียง 0.2%, รางวัลเลขท้าย 3 ตัว มีเพียง 0.2% และรางวัลเลขท้าย 2 1%)

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายค่าหวยจำนวน 1 ใบราคา 80 บาท ถ้าคุณซื้อ 1 ใบทุกงวดติดต่อกัน 1 ปี แสดงว่ามีค่าใช้จ่ายของหวยเท่ากับ 80 x 24 = 1,920 บาท/ปี (แต่คนเล่นหวยก็ไม่ได้ซื้อเพียงงวดละ 1 ใบใช้ไหมหล่ะ)

ลองเปลี่ยนจากซื้อหวยมาลงทุนให้คุ้มค่า แนะนำว่าลองมาลงทุนกับสลากต่าง ๆ ที่แต่ละธนาคารออกมาก็น่าสนใจนะ เช่น  สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส. เป็นต้น เพราะเงินต้นไม่หายและได้ดอกเบี้ยด้วย แถมสะดวกสบายซื้อได้ทาง Internet Banking ได้ด้วย เปรียบเทียบการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับสลากออมสิน https://bit.ly/2qX2jrq แถมมีวิธีซื้อสลากให้ถูกทุกงวดแบบไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อยด้วย

4. ใช้หนี้บัตรเครดิต..จ่ายแค่ขั้นต่ำ

หากคุณจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำตลอดธนาคารจะถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด 20% ต่อปีทันที เรื่องนี้บางคนอาจจะยังไม่รู้ ว่าการที่คุณจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำนั้นต้องเสียดอกเบี้ยด้วย นึกว่าสามารถผ่อนจ่ายไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีดอกเบี้ย

แต่จริง ๆ แล้วการจ่ายบัตรขั้นต่ำนั้นจะถูกคิดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 20% ต่อปี (ตามที่แบงก์ชาติกำหนด&แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร) ทันทีตั้งแต่วันที่คุณซื้อของ หรือวันที่สถาบันผู้ออกบัตรจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนเจ้าของบัตร ไม่ใช่วันครบกำหนดชำระอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยดอกเบี้ยจะคิดเป็นรายวันจนกว่าคุณจะจ่ายหนี้หมด และถ้าหากยังจ่ายขั้นต่ำในเดือนต่อไปอีก ดอกเบี้ยก็จะคิดเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เงินที่จ่ายจะไปลดดอกเบี้ยก่อนเหลือแล้วถึงค่อยไปลดเงินต้น

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าชำระไม่ตรงเวลาเป็นประจำ, ชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ครบ ค้างเกิน 90 วัน หรือชำระเงินน้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ก็จะติดประวัติในเครดิตบูโรมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติขอสินเชื่อต่อไปอีกด้วย

ดังนั้นก่อนที่คุณจะตัดสินใจรูดบัตรเครดิตก็ควรที่จะคำนึงถึงยอดการใช้จ่ายในแต่ละเดือน สำหรับคนติดหนี้ก็ต้องใช้หนี้กันไปตามระเบียบ ต้องวางแผนการเงินให้ดีไม่ให้ "เงินหาย" อีก อย่าหาข้ออ้างว่าเงินไม่พอเด็ดขาด

ส่วนการแก้ไขนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพียงแค่คุณต้องรู้จักระงับความ “อยากได้อยากมี” ของตัวเองเองให้ได้ รวมถึงรู้จักแยกแยะความ “จำเป็นและความไม่จำเป็น” ในการใช้จ่ายให้ได้ อะไรที่จำเป็นต้องใช้งานจริง ๆ ก็ค่อยใช้จ่าย อาจจะฟังดูยากแต่ถ้าลองข่มความอยากได้ครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็จะง่ายขึ้น ส่วนอะไรที่ไม่จำเป็นก็ให้งดไปก่อน หรือถ้าอยากได้มากจริง ๆ อาจรอจนมีการลดราคาแล้วค่อยซื้อก็ยังไม่สายครับ

เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย หากรู้เท่าทันราย-รับรายจ่ายของตัวเอง เงินเดือนก็ไม่ถูกผลาญไปง่าย ๆ แล้ว เพราะคุณจะมีความคิดไตร่ตรองถึงอนาคตรอบครอบมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจะช่วยให้คุณมีเงินเหลือใช้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วนำเงินในส่วนที่ใช้จ่ายอย่างไม่คิดมาออมเงินแทน..คุณจะรวยขึ้นทันตาเลยทีเดียว

◤ = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =

👍 ชอบกด Like โดนใจ กด Share

และอย่าลืม ✅ See First

เพื่อที่จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ ๆ ก่อนใคร

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = ◢

.

ติดตามความรู้ทางการเงินในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

📌 aommoney.rabbitstaging.com

https://www.youtube.com/AommoneyTH

https://www.blockdit.com/aommoney

📌 กลุ่มกองทุนไหนดี https://bit.ly/3aOjgMl

สนใจโฆษณาติดต่อ :

👉 Tel: 088-099-9875 (แน้ม)

👉 Email: rathapat@likemeasia.com