"ผลตอบแทน" เป็นชื่อหนึ่งของกำไร/ขาดทุน ผลตอบแทนเป็นบวกก็หมายถึงการลงทุนได้กำไร ผลตอบแทนเป็นลบก็หมายถึงการลงทุนนั้นขาดทุน

แล้วผลตอบแทนของกองทุนรวมมีมาจากไหนบ้าง?

ผลตอบแทนของกองทุนรวมประกอบด้วยผลตอบแทนทางตรง คือ กำไร/ขาดทุนจากผลต่างราคาหน่วยลงทุน เงินปันผล และผลตอบแทนทางอ้อม คือ สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

1. กำไร/ขาดทุนจากผลต่างราคาหน่วยลงทุน

ก่อนอื่นต้องเล่าว่าเวลาเราซื้อกองทุนรวม เราจะซื้อมาเป็นหน่วยเรียกว่าหน่วยลงทุน ซึ่งราคาหน่วยลงทุนก็จะคำนวณมาจากสินทรัพย์รวมของกองทุนรวมที่มาเฉลี่ยกัน ผลตอบแทนของกองทุนรวมจะมาจากส่วนต่างของราคาซื้อและขายหน่วยลงทุนนั่นเอง หากซื้อถูกไปขายแพงก็กำไร หากซื้อแพงไปขายถูกก็ขาดทุน (ในแง่ผลต่างราคา)

ดังนั้น เวลาที่เราซื้อกองทุนรวม เราจะมีความคาดหวังว่าสินทรัพย์ในกองทุนรวมนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่ม จนเรามีกำไรนั่นเอง เช่น การลงทุนในหุ้นที่คาดว่ามูลค่าจะปรับตัวขึ้นในอนาคต ตราสารหนี้ที่จะสะสมดอกเบี้ยจนมูลค่าปรับตัวขึ้นในอนาคต ในขณะที่สินทรัพย์บางอย่าง หากไม่เห็นภาพการเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนอาจจะชะลอการลงทุนไปจนกว่าจะเห็นภาพการเพิ่มขึ้นของมูลค่าได้ เช่น กองทุนรวมน้ำมัน กองทุนรวมสินค้าทางการเกษตร

2. เงินปันผล

กองทุนรวมสามารถแบ่งตามประเภทการจ่ายเงินปันผลได้ 2 แบบ คือ กองทุนรวมแบบจ่ายปันผล และกองทุนรวมแบบไม่จ่ายปันผล โดยกองทุนรวมที่จ่ายปันผลจะเน้นการสร้างกระแสเงินสดให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ในขณะที่กองทุนรวมแบบไม่จ่ายปันผลจะนำผลกำไรไปลงทุนซ้ำเพื่อให้นักลงทุนได้ส่วนต่างของหน่วยลงทุนในระยะยาว

การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมนั้นส่วนใหญ่ก็มีที่มาเดียวกันกับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนซึ่งก็คือกำไรจากการที่กองทุนเอาเงินไปลงทุนต่อนั่นเอง โดยที่กองทุนปันผลเลือกที่จะจ่ายปันผล แต่กองทุนปันผลนำเงินดังกล่าวไปลงทุนซ้ำ ดังนั้น การจะวิเคราะห์ว่ากองทุนรวมนั้นจะสามารถปันผลออกมาได้หรือไม่ก็มีหลักคิดเช่นเดียวกับการมองหาส่วนต่างราคาของหน่วยการลงทุน นั่นคือ กองทุนรวมต้องมีกำไรก่อนถึงจะจ่ายปันผลออกมาได้

ส่วนใหญ่นักลงทุนที่เน้นการสร้างกระแสเงินสดเป็นหลักจะเหมาะกับกองทุนรวมที่ค่อนข้างมีรายได้เข้ามาแน่นอน และค่อนข้างสามารถเชื่อมั่นได้ว่าสามารถจ่ายเงินปันผลออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกองทุนเหล่านี้มักมีรายได้มาจากค่าเช่าใช้สินทรัพย์ซึ่งค่อนข้างประมาณได้แน่นอนกว่า ดังนั้น หากนักลงทุนคาดหวังกระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นหลักควรพิจารณากองทุนรวมในกลุ่มเหล่านี้เป็นอันดับต้นๆ

3. สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

การลงทนในกองทุนรวม LTF (Long Term Equity Fund) และ RMF (Retirement Mutual Fund) นั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย (รายละเอียดการลดหย่อนมีเนื้อหาค่อนข้างมาก ศึกษาให้ดีก่อนลงทุน หากผิดพลาดอาจเจออภินิหารเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากคุณพ่อสรรพากรได้) ดังนั้น นักลงทุนควรนำสิทธิประโยชน์ตรงนี้มาคำนวณในผลตอบแทนด้วย เนื่องจากเงินคืนภาษีหรือส่วนลดหย่อนภาษีนั้นก็เป็นเงินเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ฐานภาษีเราอยู่ที่ 20% แปลว่าการที่เราซื้อกองทุนรวมประหยัดภาษี 100,000 บาท เราเองได้ผลตอบแทนแล้วแน่นอน 20% เลย แถมยังไม่นับรวมผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหน่วยลงทุนกับเงินปันผลอีก ดังนั้น นักลงทุนต้องคำนึงถึงปัจจัยตรงนี้เสมอ เช่นปรกติลงทุนในกองทุนรวมหุ้นอยู่แล้วได้ผลตอบแทนปีละ 10% แต่ถ้าเปลี่ยนมาลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่มีนโยบายใกล้เคียงเดิม ผลตอบแทนที่ได้อาจจะเป็นผลตอบแทนจากส่วนต่างหน่วยลงทุน 10% และผลตอบแทนจากการประหยัดภาษีอีก 20% แบบนี้เรียกว่าคุ้มกว่ามาก และนักลงทุนควรพิจารณาเปลี่ยนการลงทุนมาที่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าในความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ทั้ง 3 อย่างคือผลตอบแทนจากกองทุนรวมที่นักลงทุนมองหา

ดังนั้น เวลาจะพิจารณาลงทุนควรประเมินให้รอบคอบทั้ง 3 ด้าน หากขาดด้านใดด้านหนึ่งไป เราอาจจะลงทุนโดยมีค่าเสียโอกาสราคาแพงอย่างไม่รู้ตัว

ติดตามลงทุนศาสตร์ทางไลน์ได้แล้วนะรู้ยัง? กดที่รูป หรือแอดไลน์ไอดี @fiftytwohurtz ได้เลย

ลงทุนศาสตร์ - Investerest