ซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่มักจะได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนสูงสมน้ำสมเนื้อ แต่ก็มักได้ยินข่าวซีอีโอรับค่าจ้างเพียง 1 ดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็น ‘มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg ของ Facebook) หรือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk ของ Tesla)

วันนี้ เราลองมาหาเหตุผลและไขข้อข้องใจกัน ว่าทำไมซีอีโอหัวกะทิเหล่านี้ ถึงยอมรับรายได้แค่เพียง 1 ดอลลาร์หรือแค่ 36 บาทต่อปีเท่านั้น

หนึ่งดอลลาร์ต่อปีแมน (Dollar-A-Year Men)

จุดกำเนิดการรับเงิน 1 ดอลลาร์ต่อปีของเหล่าซีอีโอ คงต้องย้อนไปในช่วงปี 1940 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากมีส่วนในการช่วยเหลือประเทศ

รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำอย่าง ‘วิลเลียม นัดเซน’ (William S. Knudsen) ผู้บริหารของ General Motors และ ‘ฟิลิป รีด’ (Philip Reed) ซีอีโอของ General Electric ก็อยากมีส่วนร่วม จึงเสนอความช่วยเหลือด้านบริการต่าง ๆ ให้รัฐบาลแบบฟรี ๆ

แต่กฎหมายเจ้ากรรม ก็ห้ามไม่ให้รัฐรับความช่วยเหลือแบบอาสาสมัครจากภาคเอกชน ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินในอัตรา 1 ดอลลาร์ต่อปี จนทำให้พวกเขาได้ฉายา ‘Dollar-A-Year Men’

ต่อมาการรับเงิน 1 ดอลลาร์ต่อปีก็พัฒนาเป็นการทำเพื่อขอความช่วยเหลือ (ยังไง?)

ปี 1979 ‘ไครสเลอร์’ (Chrysler) บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของอเมริกาอยู่ในภาวะลำบากจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ทำให้พวกเขาดิ้นรนหาเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ทำให้ ‘ลี เอียคอคคา’ (Lee Iacocca) ซีอีโอในตอนนั้น ตัดสินใจลดค่าตอบแทนของตัวเองลงเหลือ 1 ดอลลาร์ต่อปีเพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนทำให้ได้รับเงินกู้จากรัฐบาลกลางจำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

การลดเงินตอบแทนของซีอีโอเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคฟองสบู่ดอตคอม (Dot-com bubble) โดยจุดเริ่มต้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ‘สตีฟ จ๊อบส์’ (Stave Jobs) ที่ตอนนั้นกลับมารับหน้าที่ซีอีโอของ Apple อีกครั้ง ประกาศขอรับค่าตอบแทนเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปีสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้นและสาวก

จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ลดเงินเดือนกันทั่วหน้าของบรรดาซีอีโอบริษัทเทคโนโลยี เช่น ‘แลร์รี เอลลิสัน’ (Larry Ellison --Oracle) หรือ เจมส์ แอล. บาร์คสเดล (James Barksdale --Netscape) เป็นต้น

จนนิตยสาร Los Angeles Times เรียกเหตุการณ์นี้ว่า #สัญลักษณ์แห่งสถานะใหม่ (A New Status Symbol)

จะเห็นได้ว่า การรับเงิน 1 ดอลลาร์ต่อปีของเหล่าซีอีโอนั้น ถูกมองว่าไม่ใช่การเสียสละเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังมีผลประโยชน์อื่นแอบซ่อนอยู่อีก จนอาจเรียกได้ว่า เป็นกลอุบาย 1 ดอลลาร์ ของเหล่าซีอีโอเลยทีเดียว โดยข้อดีอื่น ๆ ของการรับเงินเพียง 36 บาทต่อปีมีดังนี้

ภาพลักษณ์เชิงบวก

การรับเงินเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปีของซีอีโอแนวหน้า กลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อบอกผู้ถือหุ้นของบริษัทว่า ผลประโยชน์ของพวกเขา สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวที่จ้องแต่จะรับเงินเดือนก้อนโต

น้อยแต่มาก

‘โซเฟีย แฮมม์’ (Sophia Hamm) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านบัญชีของ Freeman School of Business เผยแพร่บทความในปี 2011 เธอพบว่า ซีอีโอที่รับค่าตอบแทน 1 ดอลลาร์จะมีโอกาสได้รับค่าตอบแทน 2,000,000 ดอลลาร์ในรูปแบบอื่น เช่น หุ้นบริษัท โบนัส และอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน

ตัวอย่างเช่น

สตีฟ จ๊อบส์ ที่ยอมรับเงินเพียง 15 ดอลลาร์จากการทำงานตั้งแต่ปี 1997-2011 แต่ก็ทำให้หุ้นมูลค่า 17,500,000 ดอลลาร์ (650 ล้านบาท) ของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านดอลลาร์ (80,800 ล้านบาท) รวมทั้งได้รับเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมูลค่า 90,000,000 ดอลลาร์ (3,300 ล้านบาท) ด้วย

หรือ แลร์รี เอลลิสัน ซีอีโอของออราเคิล แม้จะรับเงินเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปี แต่ก็ได้รับค่าตอบแทนรูปแบบอื่นรวมกว่า 77,000,000 ดอลลาร์ในปี 2011 เป็นต้น

อีกทั้งการรับเงินเดือนแบบนี้ก็ไม่ได้ทำไปตลอดด้วย เพราะซีอีโอบางคนกลับมารับเงินเดือนปกติใน 3 ปี เช่น ซีอีโอของ HP อย่าง ‘เม็ก วิทแมน’ (Meg Whitman) ก็รับเงินปีละ 1 ดอลลาร์ในปี 2011 แต่ปี 2013 ก็กลับมารับที่ 1,500,000 ดอลลาร์ต่อปี (55,000,000 บาท)

รวมทั้ง ลี เอียคอคคา ผู้กอบกู้ไครสเลอร์ ที่รับเงินปีละ 1 ดอลลาร์ในปี 1979 แต่ก็กลับมาเป็นซีอีโอที่มีรายได้สูงที่สุดในปี 1983 ด้วยตัวเลข 20,500,000 ดอลลาร์ต่อปี ( 920 ล้านบาท)

ภาษี

แน่นอนการรับเงินหลายล้านดอลลาร์ย่อมต้องจ่ายภาษี แต่หากมีการรับเป็นแบบอื่นก็อาจจะเสียภาษีน้อยลง เช่นการรับเป็นหุ้น หากมีการขายทำกำไร ก็เสียภาษีน้อยกว่าภาษีเงินได้จากการทำงาน และค่าจ้างตามผลงานสามารถหักออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้ด้วย เป็นต้น

ลดความเหลื่อมล้ำ?

จากการเก็บข้อมูลของ ‘Economic Policy Institute’ สถาบันวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่วอชิงตันดีซี พบว่าในปี 1978 จนถึงปี 2018 ค่าตอบแทนของซีอีโอเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 940% ในขณะที่พนักงานทั่วไป ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียง 12% ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการที่ซีอีโอรับเงินเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปี ก็ช่วยให้ภาพความเหลื่อมล้ำตรงนี้ลดลง (แต่ไปซุกอยู่ใต้พรมในรูปแบบอื่นแทน)

แต่ก็ใช้ว่าซีอีโอทุกคนจะลดรายได้เพื่อสร้างภาพและหาผลประโยชน์ เพราะซีอีโอที่ลดค่าตอบแทนของตัวเองเพื่อช่วยเหลือพนักงานและบริษัทด้วยความจริงใจก็มี

ตัวอย่างเช่น

‘แดน ไพรซ์’ (Dan Price) ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘Gravity Payments’ ธุรกิจสตาร์ตอัปผู้ให้บริการระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิตชาวอเมริกัน มีรายได้ประมาณ 1,100,000 ดอลลาร์ต่อปี (40,000,000 บาท) แต่เมื่อเขาสังเกตพนักงานที่เขาทำงานด้วย ต่างพะวงเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย เพราะรายได้เฉลี่ยพวกเขาอยู่ที่ 70,000 ดอลลาร์ต่อปี (2,570,000 บาท) ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตในเมืองซีแอตเทิล

แดนจึงปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนของพนักงานเป็น 20% ต่อปี และลดเงินเดือนของตัวเองลงมาเท่ากับพนักงานที่ 70,000 ดอลลาร์ต่อปีด้วย ผลที่เกิดขึ้น ทำให้แดนต้องปรับพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ขายบ้านหลังที่ 2 และต้องใช้เงินที่ออมไว้ด้วย และพนักงานอาวุโสบางส่วนต่างพากันลาออกเพราะรู้สึกไม่พอใจที่พนักงานใหม่ ๆ เงินเดือนขึ้นเร็วกว่าพนักงานรุ่นก่อน

แต่การปรับนโยบายการขึ้นเงินเดือนก็ดึงดูดคนกว่า 4,500 คนให้ส่งเรซูเม และช่วยลดการลาออกของพนักงานในระยะยาว และเมื่อพนักงานอยู่กับบริษัทนานก็สร้างผลงานดีอย่างต่อเนื่อง จนรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 6 ปี และพนักงานก็เซอร์ไพรส์ด้วยการซื้อ Tesla Model S เป็นของขวัญให้แดน เพราะทนไม่ได้ที่ซีอีโอคนเก่งต้องขับ Audi อายุ 12 ปี มาทำงานทุกวัน

จะเห็นได้ว่ามีหลายเหตุผลที่ซีอีโอยอมลดค่าตอบแทนลง ทั้งเรื่องของผลประโยชน์และสภาพคล่องของบริษัท บางคนอาจตั้งใจเอาผลงานเป็นตัวชี้วัดผลตอบแทน แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องการสร้างเพียงความน่าเชื่อถือและโยกย้ายผลประโยชน์ไปเป็นรูปแบบอื่น

ดังนั้นการเห็นผู้นำบริษัทประกาศว่าจะลดหรือไม่รับเงินเดือนนั้น อาจยังไม่สามารถชี้วัดได้ว่า จะส่งผลดีหรือผลเสีย ต้องดูระยะยาวว่าสิ่งที่ซีอีโอทำนั้นจะสร้างประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน และตราบใดที่สามารถสร้างผลกำไรจากการบริหารที่ดีได้มากพอ เชื่อว่า บริษัทก็ยินดีจ่ายผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้ซีอีโอเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม

- เขียนและเรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา