เป็นกันบ้างมั้ย…? ไม่ยอมไปหาหมอ เพราะกลัวเป็นโรคร้าย ไม่สำรวจสุขภาพทางการเงิน เพราะกลัวต้องมานั่งเครียด ไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะกลัวรู้ว่าตัวเองใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

บอกเลย ถ้าคุณเคยทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ พฤติกรรมของคุณเข้าข่าย The Ostrich Effect แล้วล่ะ

แล้ว The Ostrich Effect คืออะไร?

The Ostrich Effect เป็นอคติทางความคิดรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้คนเราแสดงพฤติกรรม "ปิดหูปิดตา" ไม่ยอมรับรู้ข่าวสารในแง่ลบ หรือ ข้อมูลบางอย่างที่อาจทำให้ไม่สบายใจ บางครั้งจึงเลือกทำเป็นไม่สนใจ ทำหูทวนลม บ่ายเบี่ยง ปฏิเสธการรับรู้ เพื่อยื้อสถานการณ์ให้ยาวนานที่สุด เหมือนรอปาฏิหาริย์บางอย่าง จนปัญหามันยากที่จะเยียวยา

ที่มาของ The Ostrich Effect

The Ostrich Effect ถูกบัญญัติขึ้น โดย Dan Galai และ Orly Sade 2 นักเศรษฐศาสตร์ จาก The Hebrew University of Jerusalem เมื่อปี 2006 เพื่อใช้อธิบายถึงพฤติกรรมของคน ที่มักหลีกเลี่ยง การรู้ถึงความเสี่ยง ข่าวร้าย หรือ สถานการณ์บางอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยกับตัวเอง ทำให้บางครั้งตัดสินใจพลาด หรือ ทำในสิ่งที่ดูไม่ค่อยฉลาด โดยนำไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของ “นกกระจอกเทศ”

เชื่อกันว่า นกกระจอกเทศมักจะมีนิสัยประหลาด เวลาเจอศัตรู ฟ้าร้อง หรือ ตกใจกลัวอะไรซักอย่าง มันจะเอาหัวซุกลงไปในทรายเพื่อหลบภัย ตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษที่เรียกว่า

"Ostrich buries its head in the sand"

แต่นี่เป็นความเชื่อที่ผิดนะ เพราะเวลาที่นกกระจอกเทศเอาหัวมุดลงไปในทราย ก็เพื่อกลับไข่ที่มันวางไว้ในรูที่เจาะไว้ใต้ดิน ไม่ใช่มมุดเพื่อหลบภัย

The Ostrich Effect กับโลกการเงิน

เชื่อว่าหลายคนตอนที่เริ่มเข้าสู่โลกการเงินคงเคยได้ยินนักวางแผนการเงินส่วนใหญ่ แนะนำว่า ควรจะบันทึกรายรับราย-รายจ่ายเป็นสิ่งแรก เพื่อให้เห็นว่าในแต่ละเดือนเงินที่เราได้มาถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เพื่อจะได้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ให้มีเงินเก็บมากขึ้น

แน่นอนว่าทุกคนย่อมรู้ถึงข้อดีของการบันทึกรายรับ-รายจ่าย แต่หลายคนเลือกที่จะไม่ทำ เพราะไม่อยากเห็นรายจ่ายที่ตัวเองใช้ไปกับสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ถือว่า “ไม่รู้ ถือว่าไม่เจ็บ” เพราะการได้รู้ว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง บางคนถึงกับทำใจไม่ได้ ว่าตัวเองใช้เงินเยอะขนาดนั้นเลยหรอ

เรื่องนี้ทำให้ผลเสียตกอยู่ที่ตัวเราเอง แทนที่จะเก็บเงินได้ หรือได้เงินเก็บเพิ่มมากขึ้น กลับต้องหมดไปค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

The Ostrich Effect กับนักลงทุน

The Ostrich Effect มักถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของนักลงทุนในโลกการเงิน ยิ่งเวลาหุ้นตก นักลงทุนส่วนใหญ่จะเลือกฟังแต่ข่าวดี ไม่สนใจข่าวร้าย เพราะไม่อยากรับรู้ว่ากำลังจะขาดทุน ไม่อยากเครียด ไม่อยากกังวล เหมือนกับว่า ยิ่งรู้เยอะ ก็ยิ่งปวดใจ ทำใจไม่ได้ เต็มไปด้วยภาวะ Loss Aversion เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับความสูญเสียมากกว่าการได้มานั่นเอง

บ่อยครั้ง ที่นักลงทุนเลือกที่จะ "ปิดหูปิดตา" ไม่รับฟัง ไม่สนใจข่าวร้าย หรือ มองข้ามความจริงอันเจ็บปวด โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง เพราะเชื่อว่า ไม่เปิดพอร์ตดู ก็ไม่เห็นว่าหุ้นแดง หรือ ติดดอย หรือ ไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุน เชื่อเถอะพฤติกรรมเหล่านี้ดูไม่ค่อยฉลาดเท่าไร เพราะการทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา ไม่ได้แปลว่าปัญหานั้นจะหมดไป

แต่ในความเป็นจริง ถ้ามองให้ดี จะรู้ว่าข่าวร้ายบางทีก็มีประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีหุ้นที่คุณถืออยู่ราคาร่วงติดต่อกันหลายวัน ถ้าคุณเลือกที่จะรับรู้สาเหตุ ติดตามสถานการณ์ หรือ ปัจจัยที่ส่งผล คุณก็จะประเมินว่าควรถือต่อ หรือ ควรขายหุ้นตัวนั้นออกไป เพื่อลดการขาดทุนลงได้ จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ให้เหมาะสม เชื่อเถอะตราบใดที่ใจยังฮึดสู้ อะไรก็เป็นไปได้

วิธีรับมือ The Ostrich Effect

สำหรับโลกการเงิน ต้องฝึกยอมรับความจริงให้ได้ ถ้าสิ่งไหนไม่ดี เราควรปรับปรุง เช่นเดียวกับนิสัยการเงินไหนที่ไม่ดี เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เราต้องยอมรับ ปรับตัว และหาสาเหตุที่เกิดขึ้นให้เจอ เชื่อว่าจะสามารถจัดการเงินได้อยู่หมัดแน่นอน

สำหรับนักลงทุน ต้องเริ่มจากตั้งสติ รู้ตัว และรับรู้ว่าข่าวร้ายนั้นลงผลต่อพอร์ตการลงทุนยังไง จากนั้น ต้องประเมินสถานการณ์รอบด้านอย่างมีสติว่า จะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร ต้องรู้จักฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ค่อยๆ วางแผน ปรับกลยุทธ์ วิเคราะห์ข้อมูล และความเคลื่อนไหวของตลาด เพื่อลดความสูญเสีย หรือ ทำให้ขาดทุนน้อยที่สุดได้ แต่ถ้าไม่ไหวจริงสามารถปรึกษาผู้รู้ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญต้องไม่หนีปัญหา กล้าเผชิญกับความจริง ถ้าสุดท้ายแล้วการลงทุนครั้งนี้มันผิดพลาด หรือ ยื้อไม่ไหว ไปต่อไม่ได้ ก็ให้จดจำไว้เป็นบทเรียน เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนการลงทุนในอนาคต