เคยเป็นกันมั้ย อยากกินอาหารเหลาซักครั้ง ก็กลัวไม่มีเงินกินถึงสิ้นเดือน อยากได้รองเท้าดีๆ ใส่สักคู่ ก็เกรงว่าจะต้องกินแกลบแทนข้าว พอชีวิตถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางการเงินแบบนี้ บางคนจึงเกิดความเครียด รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายใจ กับ ความไม่มั่นคงทางการเงิน สภาวะแบบนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า Financial insecurity

Financial insecurity คืออะไร ?

อธิบายง่ายๆ ด้วยข้อมูลเชิงจิตวิทยา Financial insecurity คือ ภาวะที่ผู้คนรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเครียด เศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง บางคนเป็นหนักถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้า

สาเหตุของ Financial insecurity ?

บอกเลย เกิดขึ้นจากการวิตกกังวล เครียด และรู้สึกกดดัน ที่จำนวนเงินในกระเป๋า มีไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเช่าหรือผ่อนบ้าน ค่ายา ค่ารักษาโรค และเครื่องแต่งกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนในวัยทำงาน และคนวัยเกษียณที่ต้องพึ่งพาการเงินจากคนรอบตัว

ก่อนหน้านี้ Bankrate บริษัทให้บริการทางการเงินชื่อดังของสหรัฐอเมริกา และเว็บไซต์ด้านสุขภาพจิต Psych Central เคยส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามคนอเมริกันวัยทำงาน เกือบ ​​2,500 คน ช่วงเดือนเมษายน ปี 2022 ผลสำรวจ พบว่า 42% ยอมรับว่าปัญหาทางการเงินส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะจากสิ่งกระตุ้นเหล่านี้

- เปิดดูบัญชีธนาคาร 49%

- จ่ายบิลค่าใช้จ่ายรายเดือน 41%

- จับจ่ายซื้อของ 34%

- เวลาต้องคุยเรื่องเงินกับผู้อื่น 32%

- ตรวจดูบัญชีสำหรับลงทุน 16%

ผลเสียของ Financial insecurity ?

เมื่อชีวิตถูกจำกัดอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความวิตกกังวล หงุดหงิด และเครียด พอเกิดขึ้นบ่อยๆเข้า ก็จะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางการเงิน ไม่มีเงินใช้ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน

คราวนี้พอความเครียดสะสม หลายคนจะเริ่ม สิ้นหวัง ค่อยๆ สูญเสียความเคารพตนเอง รู้สึกว่าชีวิตพ่ายแพ้และล้มเหลว กลายเป็นโรคซึมเศร้า

วิธีรับมือ Financial Insecurity ?

อ่านมาถึงบรรทัดนี้เชื่อว่า หลายคนคงกังวล แต่ไม่กลัว อาการ Financial Insecurity แก้ไขได้ไม่อยาก เริ่มต้นจากตระหนักรู้ถึงปัญหา ยอมเผชิญหน้า ทบทวนรูปแบบการใช้เงิน และค่อยๆ ปรับปรุงนิสัยการใช้จ่าย จากนั้นเริ่มวางแผนบริหารจัดการเงินในกระเป๋าให้รัดกุม และบันทึกค่าใช้จ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูล

แต่สิ่งที่ทรงพลังที่สุด คือ การมองชีวิตเชิงบวก แทนที่จะพร่ำบ่นว่า "ฉันยากจนอยู่เสมอ" ก็ให้เปลี่ยนมาเป็น "ฉันบริหารจัดการเงินในกระเป๋าได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เพื่อเสริมกำลังใจ จากนั้น ค่อยๆ ทำความเข้าใจสภาวะอารมณ์ของตนเอง แยกให้ออกระหว่างความเครียดทางการเงิน กับ อารมณ์ความรู้สึก ต้องมองว่า เงินเป็นสิ่งที่ควบคุม หรือ บริหารจัดการได้ อาจต้องใช้เวลาศึกษาหาความรู้ หรือ ปรึกษาผู้รู้ เพื่อให้ปัญหาการเงินคลี่คลายในที่สุด aomMONEY เชื่อมั่นคุณทำได้

อ้างอิง :

- https://www.forbes.com/sites/teresaghilarducci/2021/09/17/financial-insecurity-and-cognitive-decline---what-is-the-link/

- https://www.bankrate.com/personal-finance/financial-wellness-survey/

- https://www.clevergirlfinance.com/how-to-handle-financial-insecurity-5-tips/